สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจวันนี้
สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจประจำวันที่ 9 มิ.ย.58
– ปิดตลาดเย็นนี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 124.08/15 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 124.41/44 เยน/ดอลลาร์
– ส่วนเงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.1255/1265 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.1323/1326 ดอลลาร์/ยูโร
– ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,492.32 ลดลง 15.96 จุด (-1.06%) โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 41,147 ล้านบาท
– สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 492.87 ล้านบาท (SET+MAI)
– นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำเดือนมิ.ย.58 หดตัวลงหลังจากที่ปรับตัวขึ้น 2 เดือนติดต่อกัน โดยค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 43.11 จุด ลดลง 10.0 จุด เป็นการปรับตัวลงต่ำกว่าระดับ 50 จุด ซึ่งเป็นระดับอ้างอิง สะท้อนมุมมองเชิงลบต่อราคาทองคำในประเทศเดือนมิถุนายน แต่มองอ่อนตัวไม่มากเพราะค่าดัชนียังอยู่ใกล้ระดับ 50 จุด โดยปัจจัยลบต่อราคาทองคำ คือ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าหลังจากประธานเฟดเน้นย้ำการขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้ ส่วนปัจจัยบวกสำคัญ คือ การอ่อนตัวของค่าเงินบาทที่ยังเชื่อว่ามีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง
– ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) เดือนพ.ค. 58 อยู่ที่ 45.0 จาก 45.8 ในเดือนเม.ย.ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ที่สะท้อนมุมมองในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) อยู่ที่ 46.2 โดยปรับตัวลงมาแตะระดับต่ำที่สุดในรอบ 9 เดือนด้วยเช่นเดียวกัน ผลสำรวจ สะท้อนว่า หากมองออกมาจากในมุมของภาคครัวเรือนแล้ว สภาวะแวดล้อม/ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ณ ขณะนี้ ยังคงมีสัญญาณที่อ่อนแอลง
โดยเฉพาะสถานการณ์รายได้ และเงินออมที่ยังไม่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ ภาระค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ และการผ่อนชำระหนี้ต่อเดือนของครัวเรือน ก็ยังคงไม่ปรับลดลงมามากนัก แม้อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำ และอัตราดอกเบี้ยได้เริ่มทยอยปรับลดลงมาบ้างในช่วงที่ผ่านมา
– ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)วันนี้มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ให้เป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต่ออีกวาระหนึ่ง
– สำนักข่าวต่างประเทศรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า ผู้แทนจากกรีซได้ยื่นข้อเสนอปฏิรูปต่อเจ้าหนี้ เพื่อแลกกับการขอรับเงินช่วยเหลืองวดต่อไป ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวครอบคลุมถึงเป้าหมายด้านการคลัง
– อัตราความเสี่ยงที่อินโดนีเซียจะเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากการออกพันธบัตร พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในปีนี้ ขณะที่การร่วงลงของค่าเงินรูเปียห์ และตัวเลขเงินเฟ้อของประเทศที่สูงขึ้นนั้น ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลว่านักลงทุนต่างชาติอาจจะถอนการลงทุนออกจากอินโดนีเซีย
ทั้งนี้ ค่าประกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ (Credit Default Swaps:CDS) ระยะ 5 ปีของอินโดนีเซีย พุ่งขึ้น 0.19% แตะที่ 180 ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้อินโดนีเซียติดกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงในการชำระหนี้สูงสุดในเอเชีย ขณะที่ธนาคารกลางอินโดนีเซีย คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียจะเคลื่อนไหวเหนือระดับ 7% ไปจนถึงเดือนก.ย.นี้
– ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค.ของญี่ปุ่นปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน หลังจากราคาสินค้า เช่น อาหาร ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลออกมาปรับลดการประเมินความเชื่อมั่น โดยดัชนีความเชื่อมั่นของครัวเรือน (ที่มีสมาชิกอย่างน้อย 2 คน) ปรับตัวลดลง 0.1 จุด จากเดือนเม.ย. แตะ 41.4
– การประชุมสุดยอดของบรรดาผู้นำของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 หรือ G7 ได้ปิดฉากลงเมื่อวานนี้ โดยมีการให้คำมั่นที่จะดำเนินการในประเด็นต่างๆ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การค้าโลก ความขัดแย้งในยูแครน ไปจนถึง การต่อต้านกลุ่มก่อการร้าย
ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์