BTSตามตื๊อยักษ์ใหญ่ PTT ร่วมทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เคาะชื่อพันธมิตรก.ย.นี้
BTSตามตื๊อยักษ์ใหญ่ PTT ร่วมทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เคาะรายชื่อพันธมิตรก.ย.นี้
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS คาดว่า บริษัทฯจะสามารถสรุปพันธมิตรเพื่อเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาทได้ในราวเดือน ก.ย.นี้ โดยเบื้องต้นบริษัทที่เข้าร่วมลงทุนกับ BTS มี 2 รายคือ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC, บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ซึ่งรวมกลุ่มในชื่อกลุ่ม BSR ขณะเดียวกันรอคำตอบจากกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ รวมทั้งอาจจะมีรายอื่นเข้าร่วมด้วยเพราะมีผู้ซื้อซองประมูลไป 31 ราย
ทั้งนี้ ตามเงื่อนไข TOR โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะต้องดำเนินการในโครงการ 4 อย่าง ได้แก่ 1) ต้องมีประสบการณ์งานโยธาหรืองานก่อสร้างรถไฟ ซึ่งในกลุ่ม BSR มี STEC เป็นผู้รับงานรับเหมาก่อสร้าง 2) ต้องเคยเดินรถไฟความเร็วสูง ที่ความเร็ว 250 กม./ชั่วโมง ไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งบริษัทกำลังเจรจาบริษัทที่เคยเดินรถดังกล่าว 2-3 ราย ซึ่งส่วนนี้จะเป็นการว่าจ้าง 3) ต้องมีประสบการณ์งานระบบเครื่องกลและไฟฟ้า (System Integration) ของรถไฟความเร็วสูง ซึ่งในส่วนนี้ก็จะว่าจ้างซัพพลายเออร์ และ 4) เคยมีประสบการณ์พัฒนาพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ ก็จะให้บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ U ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มเป็นผู้ดำเนินงาน
ขณะที่เงินลงทุน ตามเงื่อนไข TOR ให้ลงทุนในส่วนทุน (Equity) จำนวน 3 หมื่นล้านบาทนั้น เชื่อว่า กลุ่ม BSR ไม่น่าจะมีปัญหาการระดมเงิน โดยในส่วน BTS มีช่องทางระดมทุนหลายทาง ได้แก่ ออกหุ้นกู้ วอร์แรนต์ เป็นต้น
อนึ่ง รถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กำหนดเวลาการขายเอกสารการคัดเลือกเอกชนในวันที่ 18 มิ.ย.- 9 ก.ค.61 เวลา 9.00 -12 .00 น. และ เวลา 13.00- 15.00 น. และเปิดรับซอง เอกสารเสนอราคาในวันที่ 12 พ.ย. 61 และประกาศรายชื่อผู้ชนะ วันที่ 13 พ.ย.61 โดยขณะนี้มีเอกชน 31 รายที่เข้าซื้อซองเสนอราคาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
สำหรับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS, บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด (ซีพี), บริษัท เอนเนอร์ยี คอมเพล็กซ์ จำกัดซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) หรือ PTT, บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ
อีกทั้ง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD, บริษัท อิโตชู คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท ชิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด, บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC,บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM , ,บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK
ด้าน แหล่งข่าวจาก รฟท. กล่าวว่า ปตท. ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ปตท.ให้มอบอำนาจผู้บริหารในการเข้าเจรจาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (17 ส.ค.) ซึ่งปตท.ได้เจรจาอยู่กับกลุ่มบีทีเอส และ กลุ่มซีพี ซึ่งกลุ่มนี้มี บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เข้าร่วมด้วย ซึ่งหากตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมลงทุนกับกลุ่มใด หรือไม่ลงทุนโครงการนี้อย่างไร ก็ต้องรายงานต่อคณะกรรมการบริษัท