GGC-KTIS ผนึกพันธมิตรฟินแลนด์ “เค็มโปลีส” รุกสร้างมูลค่าชานอ้อยหนุนโครงการไบโอคอมเพล็กซ์
GGC-KTIS ผนึกพันธมิตรฟินแลนด์ “เค็มโปลีส” รุกสร้างมูลค่าชานอ้อยหนุนโครงการไบโอคอมเพล็กซ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC และบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ลงนามบันทึกความเข้าใจกับบริษัท เค็มโปลีส จำกัด (Chempolis) จากประเทศฟินแลนด์ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชานอ้อยพร้อมพัฒนาสู่โครงการในไบโอคอมเพล็กซ์
ด้านนายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม KTIS เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัท และ GGC ได้มีข้อตกลงร่วมกันพัฒนาโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC) โดยในเฟสแรกจะนำน้ำอ้อยมาผลิตเป็นเอทานอล และมีชานอ้อยที่นอกจากการนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า และผลิตเยื่อกระดาษชานอ้อย ยังสามารถนำไปเปลี่ยนเป็นน้ำตาลและสารมูลค่าสูงอื่นๆ เช่น เฟอเฟอราล (Furfural), อะซีติก เอซิด (Acetic Acid) และ ลิกนิน (Lignin) แต่ต้องใช้เทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นการเฉพาะ เช่น เทคโนโลยีเซลลูโลสชีวมวล (Cellulosic Biomass Technology) ซึ่งพัฒนาโดยเค็มโปลีส ผู้นำด้านเทคโนโลยีชีวภาพระดับโลกจากฟินแลนด์
“การลงนามในบันทึกความเข้าใจสามฝ่าย คือ KTIS, GGC และเค็มโปลีส ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะพัฒนาไปสู่โครงการที่จะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากชานอ้อย ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ตามนโยบายการสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ซึ่งเป็นโครงการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ต่อยอดที่มีมูลค่าสูงขึ้น อันจะส่งผลให้มูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศสูงขึ้นด้วย รายได้ของเกษตรกรก็จะสูงขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น ชุมชนใกล้เคียงก็จะมีเศรษฐกิจและสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น” นายณัฎฐปัญญ์กล่าว
ทั้งนี้ พันธมิตรทั้งสามองค์กรจะร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยีที่เค็มโปลีสมีอยู่แล้ว หรือที่จะพัฒนาขึ้นใหม่ เพื่อที่จะแปรรูปชานอ้อยให้เป็นผลิตภัณฑ์และสารเคมีคุณภาพสูงต่างๆ ที่สามารถใช้ทดแทนสารเคมีที่ผลิตจากสารตั้งต้นที่ไม่ใช่วัตถุดิบธรรมชาติได้ อันจะเป็นผลดีกับสิ่งแวดล้อมโลกด้วย ซึ่งหากศึกษาแล้วพบว่ามีโอกาสจะดำเนินโครงการเชิงพาณิชย์ได้ ก็จะพัฒนาเป็นโครงการในเฟสที่สอง ของนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ต่อไป
สำหรับการลงทุนในช่วงแรกจะมีการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อรองรับโครงการในเฟสที่หนึ่ง และเฟสที่สอง และสร้างโรงงานผลิตเอทานอลจากน้ำอ้อย ใช้เงินลงทุนรวมประมาณแปดพันล้านบาท โดย KTIS และ GGC ลงทุนฝ่ายละห้าสิบเปอร์เซ็นต์ ใช้เวลาก่อสร้างประมาณสองปีหลังจากได้รับอนุมัติการลงทุน ทั้งนี้ จะมีการหีบอ้อยประมาณสองล้านสี่แสนตันต่อปี มีกำลังการผลิตเอทานอล 6 แสนลิตรต่อวัน