กสทช.เร่งปรับเกณฑ์ประมูลคลื่น900MHz-1800MHz พร้อมยืดเวลาจ่ายค่างวดจูงใจผู้ประกอบการ

กสทช.เร่งปรับเกณฑ์ประมูลคลื่น900MHz-1800MHz พร้อมยืดเวลาจ่ายค่างวดจูงใจผู้ประกอบการ


นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด กสทช. มีมติรับรองผลการประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกกะเฮิรตซ์ โดยหลังจากนี้จะนำชื่อผู้ชนะประมูลขึ้นเว็บไซต์ของ กสทช. และทำหนังสือแจ้งผู้ชนะการประมูลต่อไป

สำหรับการดำเนินการกับคลื่นที่เหลืออยู่ คือคลื่น 1800 เมกกะเฮิรตซ์ จำนวน 7 ใบอนุญาต และคลื่น 900 เมกกะเฮิรตซ์ จำนวน 1 ใบอนุญาต จะตั้งกรรมการศึกษาแนวทางการปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อนำข้อสรุปเสนอบอร์ด กสทช.ต่อไป

โดยเบื้องต้นจุดยืนของ กสทช.กรณีคลื่น 1800 เมกกะเฮิรตซ์ คงต้องใช้ราคาเริ่มต้นการประมูลราคาเดิม แต่อาจปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระเงินจากเดิมกำหนดไว้ 3 งวด เปลี่ยนเป็นการขยายเวลาการชำระเงินเป็น 5 ปี หรือ 6 ปี (ปีละ 20% ของราคาที่ประมูลได้) ขณะที่คลื่น 900 เมกกะเฮิรตซ์ ที่มีเงื่อนไขการชำระเงิน 4 งวด อาจจะแบ่งการชำระเงินเป็น 8 ปี หรือ 9 ปี หรือ 10 ปี ซึ่งในส่วนนี้ต้องมีการศึกษาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป

ส่วนประเด็นการที่กำหนดให้ผู้ชนะการประมูลคลื่น 900 เมกกะเฮิรตซ์ ต้องทำระบบป้องกันการรบกวนสัญญาณกับระบบรถไฟฟ้านั้น เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า อาจจะปรับเปลี่ยนเป็นการให้ผู้ให้บริการแต่ละรายดำเนินการทำระบบป้องกันการรบกวนคลื่นโดยให้มาเบิกเงินจากกองทุน กสทช. อย่างไรก็ดี ทั้งหมดจะต้องมีการศึกษาและเสนอบอร์ด กสทช. และต้องรับฟังความคิดเห็นสาธารณะก่อนจึงจะมีข้อยุติ

“คณะทำงานฯ จะหาข้อสรุปแนวทางการปรับปรุงเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ให้ได้ข้อสรุปภายใน 30 วัน หลังจากนั้นจะเสนอคณะอนุกรรมการกลั่นกรองด้านโทรคมนาคม แล้วจึงเสนอบอร์ด กสทช.พิจารณา ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ใหม่ภายใน 90 วัน” เลขาธิการ กสทช.ระบุ

สำหรับประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เป็นการเปิดทางให้ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่ได้รับใบอนุญาตสามารถควบรวมกิจการได้ โดยประกาศนี้ได้ทำการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนแล้ว

อย่างไรก็ดี หลังจากออกประกาศฉบับนี้แล้วยังต้องมีการแก้ไขปัญหาทีวีดิจทัลอีกหลายประเด็น อาทิ ผลจากการควบรวมกิจการ  การเตรียมการรับเทคโนโลยี 5G ของทีวีดิจทัล เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยคณะทำงานแก้ไขปัญหาทีวีดิจทัลอย่างยั่งยืนจะทำการศึกษาแนวทางที่เหมาะสมและเสนอต่อที่ประชุมบอร์ด กสทช.ต่อไป

Back to top button