ฟิทช์ชี้ธุรกิจมือถือของไทยแข่งขันสูง ด้าน DTAC เสียส่วนแบ่งทางการตลาด
ฟิทช์ชี้ธุรกิจมือถือของไทยแข่งขันสูง ด้าน DTAC เสียส่วนแบ่งทางการตลาด
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยจะมีการแข่งขันที่รุนแรง ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TrueMobile ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่อันดับที่สามมีฐานะการเงินที่ดีขึ้น และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดจากผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่สองรายใหญ่
บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับสอง น่าจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากบริษัทสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการ (Service revenue market share) ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาทั้งในส่วนบริการด้านเสียง (Voice service) และบริการที่ไม่ใช่เสียง (Non-voice service) ให้กับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุด และ TrueMobile โดยส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการในไตรมาส 1 ของปี 2558 ของ DTAC ในส่วนของ Voice service อยู่ที่ 28.2% และ Non-voice service อยู่ที่ 29.5% ลดลงจาก 29.3% และ 32.9% ตามลำดับ ในไตรมาส 1 ของปี 2557
ฟิทช์คาดว่ารายได้จาก Voice service ของทั้งอุตสาหกรรมจะลดลง 10%-15% ในปี 2558 (ในปี 2557 ลดลง 12%) การแข่งขันจะยังคงรุนแรง เนื่องจาก TrueMobile มีเป้าหมายที่จะเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รายได้จาก Voice service ยังคงเป็นสัดส่วนรายได้หลัก การขยายเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ TrueMobile ไปในพื้นที่ต่างจังหวัดได้ช่วยลดช่องว่างของส่วนแบ่งทางการตลาดกับผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งสองราย สำหรับการให้บริการในพื้นที่ดังกล่าว โดยในไตรมาส 1 ของปี 2558 ส่วนแบ่งทางการตลาดสำหรับรายได้ด้าน Voice service ของ TrueMobile ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 17.7% ในขณะที่ส่วนแบ่งทางการตลาดของรายได้ Voice service ของ AIS และ DTAC ปรับตัวลดลง 0.5% และ 1.4% ตามลำดับ ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว
ฟิทช์คาดว่าผู้ประกอบการทุกรายจะยังคงแข่งขันกันรุนแรงทั้งในด้านค่าบริการข้อมูล และกิจกรรมส่งเสริมการขายเครื่องโทรศัพท์ เพื่อเพิ่มการใช้บริการด้านข้อมูล AIS น่าจะได้รับประโยชน์มากที่สุดสำหรับการเติบโตในส่วนของการใช้ข้อมูล เนื่องจากคุณภาพเครือข่ายที่ดีกว่าผู้ประกอบการรายอื่น AIS ได้มีการลงทุนขยายเครือข่าย 3G อย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้สถานะด้านการแข่งขันเมื่อเทียบกับคู่แข่งในด้าน Non-voice service ของ AIS แข็งแกร่งขึ้นแม้ว่าบริษัทจะไม่มีบริการ 4G ในไตรมาส 1 ของปี 2558 รายได้จาก Non-voice service ของ AIS เติบโตอย่างแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น 33.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ 26.7% ส่วนแบ่งทางการตลาดของรายได้ Non-voice service ของ AIS ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 2.6% เป็น 50.5% ในไตรมาส 1 ของปี 2558 จาก 47.9% ในไตรมาส 1 ของปี 2557
ถึงแม้ว่าความสามารถในการแข่งขันของ TrueMobile เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งจะปรับตัวดีขึ้น แต่ในส่วนของผลประกอบการและอัตราส่วนกำไรของ TrueMobile ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าคู่แข่งอยู่มาก ทั้งนี้เป็นผลมาจากต้นทุนของบริษัทที่อยู่ในระดับสูงเนื่องจากขนาดธุรกิจที่เล็กกว่า และค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่สูง อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้ (EBITDA margin) ของ TrueMobile (คำนวณโดยไม่รวมรายได้รับจากค่าเช่าเครือข่าย) อยู่ในระดับต่ำที่ 12.2% สำหรับ ณ สิ้นไตรมาส 1 ของปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับ AIS ซึ่งอยู่ที่ 44% และ DTAC ซึ่งอยู่ที่ 33%
ฟิทช์มองว่าส่วนแบ่งทางการตลาดด้านรายได้ของ DTAC ซึ่งปรับตัวลดลง ไม่น่าจะมีผลกระทบในแง่ลบต่ออันดับเครดิตทันที เนื่องจากอันดับเครดิตได้พิจารณาถึงการแข่งขัน และการลงทุนที่สูงขึ้น กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ DTAC จะยังคงแข็งแกร่ง และอัตราส่วนหนี้สินยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอันดับเครดิตปัจจุบัน บริษัทมีแผนที่จะเน้นการพัฒนาคุณภาพเครือข่ายเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันมากกว่าการแข่งขันด้านราคา ฟิทช์เชื่อว่า DTAC จะยังคงได้รับผลประโยชน์อย่างต่อเนื่องจากค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้ภาครัฐ (Regulatory cost) ที่ปรับตัวลดลง หลังจากที่บริษัทย้ายผู้ใช้บริการไปยังระบบใบอนุญาต จากระบบสัมปทาน
แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวกของ DTAC ยังคงสะท้อนถึง มุมมองของฟิทช์ที่คาดว่าบริษัทจะรักษาระดับกำไรที่แข็งแกร่ง และมีอัตราส่วนหนี้สินที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงเงินทุนหมุนเวียน (Funds flow from operation-adjusted net leverage) ต่ำกว่า 1.5 เท่า (ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2558 อยู่ที่ 1.4 เท่า) อย่างไรก็ตามฟิทช์อาจพิจารณาปรับเพิ่มอันดับเครดิตของ DTAC เป็น BBB+/AA+(tha) หาก EBITDAR margin ของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงกว่า 40% อย่างต่อเนื่อง (12 เดือนที่ผ่านมาจนถึงสิ้นไตรมาส 1 ปี 2558 อยู่ที่ 35%) แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวกบ่งบอกว่าเงื่อนไขข้างต้นมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นภายใน 2 ปีข้างหน้า