4 หุ้นลิสซิ่งเสี่ยงกำไรทรุด! หลัง “แบงก์ชาติ” เตรียมคลอดเกณฑ์คุมเข้มสินเชื่อรถแลกเงิน
4 หุ้นลิสซิ่งเสี่ยงกำไรทรุด เหตุแบงก์ชาติเตรียมคลอดเกณฑ์คุมเข้มสินเชื่อรถแลกเงิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า ธปท.กำลังพิจารณาออกกฎเกณฑ์กำกับดูแลการให้สินเชื่อรถยนต์ในลักษณะสินเชื่อเงินสด ประเภทรถแลกเงิน เนื่องจากสินเชื่อในส่วนนี้มีการเติบโตเร็วมาก นอกจากนั้น ยังมีผู้ให้บริการสินเชื่อดังกล่าวหลายประเภทตั้งแต่ธนาคารพาณิชย์ บริษัทสินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงินภายใต้การกำกับ (นอนแบงก์) รวมทั้งมีการตั้งบริษัทให้สินเชื่อกันเองในลักษณะการจำนองที่ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแล
ทั้งนี้ แนวทางที่ ธปท.กำลังพิจารณาอยู่ มีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นผู้กำกับดูแล ซึ่งผู้ประกอบการอาจต้องขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อรถแลกเงิน หรือจัดตั้งขึ้นมาเป็นบริษัท และมาขอใบอนุญาตเพื่อประกอบการธุรกิจดังกล่าว เบื้องต้น จะมีการหารือและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดและประชาชน โดยคาดว่าจะสามารถบังคับใช้ไม่เกินสิ้นปีนี้
โดย บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ตามที่กระทรวงการคลังประกาศ ขยายขอบเขตของสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด (พิโกไฟแนนซ์) ให้ครอบคลุมไปถึงสินเชื่อทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีเพียงสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภค ใช้ในยามฉุกเฉิน เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตฯ สามารถให้บริการสินเชื่อได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ส่งผลบวกต่อผู้ประกอบการรายเดิมที่ให้บริการด้านนี้อยู่แล้ว เช่น MTC, SAWAD เนื่องจากการให้บริการสินเชื่อดังกล่าวต้องมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในจังหวัดที่สำนักงานใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจตั้งอยู่เท่านั้น ดังนั้น หากผู้ประกอบการต้องการให้สินเชื่อทะเบียนรถ จำเป็นต้องจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก จึงสร้างความยุ่งยากให้แก่บริษัทในกรณีการจัดทำงบการเงินรวมในแต่ละงวด ตรงกันข้ามนับว่าดีต่อผู้ประกอบการรายใหม่ อาทิ KTC จากเดิมที่มีสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล อีกทั้งการขออนุญาต และจัดตั้งบริษัทใหม่อาจไม่ยุ่งยากเท่า 2 บริษัทดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ คือ พรบ. กำกับดูแล Non-Bank ยังขาดความชัดเจนในส่วนของการคิดรายได้ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียม โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ที่มีความกังวลมากกว่าสินเชื่อประเภทอื่นๆ แม้ผู้ประกอบการที่ให้สินเชื่อภายใต้สัญญาเงินกู้ยืม (Loan contract) จะคิดดอกเบี้ยไม่เกินเพดานตามกรอบกฎหมายอยู่แล้ว แต่การนำค่าธรรมเนียมจัดการสินเชื่อรวมไว้ในอัตราดอกเบี้ยที่คิดกับลูกค้า ทำให้สูงเกินเพดานที่กฎหมายกำหนด ผู้ประกอบการจึงได้มีการแยกทำสัญญากู้ยืมเป็น 2 สัญญา คือ สินเชื่อทะเบียนรถคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 15% p.a. และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ที่คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 36% p.a. นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการใช้มาตรฐานบัญชี IFRS 9 ทั้งนี้เชื่อว่าบริษัทมีการตั้งสำรองไปพอควรแล้ว
นอกจากนี้ข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์เช้านี้ ระบุว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องการควบคุมสินเชื่อทะเบียน โดยจะมีการประกาศเพิ่มเติมใน พรบ. กำกับดูแล Non-bank ซึ่งน่าจะเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการการทั้งรายใหม่ และ รายเดิมที่ต้องขอใบอนุญาตอย่างเป็นทางการ เช่น MTC, SAWAD เป็นต้น โดยภาพรวมจึงน่าจะหลีกเลี่ยงกลุ่มนี้ไปก่อน
ด้าน บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แบงก์ชาติโดดคุมสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เตรียมให้ใบอนุญาตเอง หวังคุมผู้ประกอบการ ไม่ให้คิดดอกเบี้ยโหด มีหลักเกณฑ์ดูแลผู้บริโภค เผยปัจจุบันอยู่ระหว่างทำเฮียริ่ง คาดประกาศใช้ได้ภายในสิ้นปีนี้ ยอมรับที่ผ่านมามีผู้ร้องเรียนเข้ามามาก (ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 3 ก.ย.61)
โดยมีความความเห็นเชิงกลยุทธ์ ว่า กลุ่มไฟแนนซ์ได้เตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับกฎระเบียบการปล่อยสินเชื่อจำนำกันไปบ้างแล้ว เช่น SAWAD มีการโอนย้ายลูกค้าไปไว้กับ BFIT และ MTC ได้มีการปล่อยสินเชื่อจำนำควบคู่ไปกับสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ในอัตรา 70 : 30 สำหรับลูกค้าหนึ่งราย โดยสินเชื่อจำนำคิดอัตราดอกเบี้ยลดลงเป็น 15% ต่อปี (จากเดิม 23%) ส่วนสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์คิดอัตราดอกเบี้ย 36% ตามอัตราเพดานของสินเชื่อประเภทนี้ ทำให้จะได้รับผลกระทบจากกฎเกณฑ์ใหม่ไม่มาก
สำหรับการเติบโตของธุรกิจไฟแนนซ์ในไทยยังแข็งแกร่งในปี 61-62 จากการขยายสาขาของแต่ละบริษัท แต่คาดว่าหลังจากนั้นไปแล้วก็น่าจะเข้าสู่ช่วงอิ่มตัว เนื่องจากจำนวนสาขาที่มีมากครอบคลุมแทบทุกพื้นที่ และหนี้สินภาคครัวเรือนของไทยยังอยู่ในระดับสูง ในเชิงกลยุทธ์ แนะนำซื้อ AEONTS และ MTC
อนึ่งบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่คาดว่า อาจจะได้รับผลกระทบจากประเด็นดังกล่าว ได้แก่ ผู้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ อาทิ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC ,บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD ,บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ THANI และบริษัท อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AMANAH