5 โบรกฯฟันธง! 24 หุ้นน่าเก็บเดือนก.ย.เน้นหุ้นเด่นรับผลดีเลือกตั้ง

5 โบรกฯฟันธง! 24 หุ้นน่าเก็บเดือนก.ย.เน้นหุ้นเด่นรับผลดีเลือกตั้ง นำโดย CK,SEAFCO,AMATA,GLOBAL,KTC,BGRIM,PLANB,AEONTS,DCC,MINT,STEC,TKN,BJC,COM7,HANA, IRPC,PRM,TCAP,CPF,RATCH,EASTW,BH,SCCC,MACO


เข้าสู่การลงทุนเดือนกันยายน“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์”ได้ทำการรวบรวมกลยุทธ์การลงทุนพร้อมปัจจัยที่ต้องจับตาในการลงทุนเดือนสุดท้ายก่อนปิดงบไตรมาส 3/61 มานำเสนอโดยอาศัยบทวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ 5 แห่ง ประกอบด้วย,บล.ทิสโก้,บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส,บล.เคจีไอ,บล.กรุงศรี และบล.เอเซีย พลัส

โดยทั้ง 5 แห่งประเมินแนวโน้มเดือนก.ย.คาดการเมืองไทยจะมีความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องของการเลือกตั้งจากการประกาศใช้ พ.ร.ป.ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งครบทั้ง 4 ฉบับ ผสานกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมคลายล็อกพรรคการเมืองให้เริ่มสามารถทำกิจกรรมได้ น่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและเป็นผลดีต่อ Foreign Fund Flows ตามสถิติในอดีต ต่างชาติมักเป็นผู้ซื้อสุทธิในปีที่มีการเลือกตั้ง โดยมีโอกาสสูงถึง 70% และตลาดหุ้นไทยมักปรับขึ้นและให้ผลตอบแทนดีที่สุดในช่วงก่อนการเลือกตั้ง 3-6 เดือนล่วงหน้า (Pre-election Rally)

แน่นอนกลุ่มหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งกลายมาเป็นจุดสนใจ เช่นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากภาวะการลงทุนที่แข็งแกร่งขึ้นจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานและโครงการที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย EEC โดยเลือก CK,SEAFCO,AMATA,GLOBAL,KTC,BGRIM,PLANB,AEONTS,DCC,MINT,STEC,TKN,BJC,COM7,HANA, IRPC,PRM,TCAP,CPF,RATCH,EASTW,BH,SCCC,MACO

 

บล.ทิสโก้ : แนะหาจังหวะสะสม-ถือลงทุนข้ามปี รับแนวโน้มเชิงบวกจากการเลือกตั้งปีหน้า (Pre-election Rally) การประชุมธนาคารกลางของหลายประเทศซึ่งรวมถึงไทยในช่วงเดือน ก.ย. นี้  คาดว่าจะประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามเดิม ยกเว้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่คาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็น 2.00-2.25% อย่างไรก็ดี  มองไม่น่ามีผลกระทบเชิงลบต่อตลาด เนื่องจากตลาดซึมซับแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED เดือนนี้ไปแล้ว สังเกตได้จาก FED Funds Futures ที่ประเมินความเป็นไปได้ในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเดือนนี้แตะระดับ 95% และ ไม่คาดว่าเส้นทางการขึ้นดอกเบี้ยของ FED ในอนาคต (Dot Plot) จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในเดือน มิ.ย. ที่คาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ยังคงไว้ที่ 4 ครั้ง

สำหรับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนยังเป็นปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่ต้องติดตามใกล้ชิด เนื่องจากสินค้าจีนมูลค่าอีก 2 แสนล้านดอลลาร์ฯ ที่อยู่ในกระบวนการรับฟังความเห็นจากสาธารณะจะเสร็จสิ้นลงในวันที่ 5 ก.ย. นี้ และหลังจากนั้นจะสามารถบังคับใช้ได้ทันทีขึ้นอยู่กับคำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์

นอกจากนี้ สถานการณ์กีดกันทางการค้ายังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์และชิ้นส่วน เพราะจะมีมูลค่าสูงถึงเกือบ 3 แสนล้านดอลลาร์ฯ หรือคิดเป็น 12% ของมูลค่านำเข้าทั้งหมดของสหรัฐฯ ในปี 2017 ซึ่งมีมูลค่าสูงที่สุดนับตั้งแต่สหรัฐฯ เริ่มใช้มาตรการกีดทางการค้ามาในปีนี้ และที่สำคัญจะใช้กับทุกประเทศทั่วโลก แต่มาตรการหลังนี้  ยังให้น้ำหนักเกิดขึ้นน้อย เพราะการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าในกลุ่มนี้จะกระทบกับเศรษฐกิจที่ค่อนข้างมาก และสมาชิกพรรครีพับลิกันหลายท่านมีท่าทีที่ไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ เนื่องจากจะกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง เพราะฉะนั้น  ยังคงมุมมองเดิมในกรณีฐาน คือ การกีดกันการค้าแม้ยังมีแนวโน้มยืดเยื้อ แต่ไม่น่ามีผลบังคับใช้ทั้งหมด เพราะหลัก ๆ ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มอำนาจการต่อรองและทำให้คะแนนความนิยมของประธานาธิบดีทรัมป์เพิ่มขึ้นก่อนที่จะถึงการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ในวันที่ 6 พ.ย. นี้ และเมื่อผ่านพ้นช่วงการเลือกตั้งไปแล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์น่าจะลดท่าทีที่แข็งกร้าวลง

แม้ในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน แต่แนวโน้มแผ่วลงเรื่อยๆ และ มองแนวโน้มน่าจะกลับมาเป็นบวกได้ในเดือนนี้ จาก (1) ผลกระทบจากการขายปรับพอร์ตตามที่ MSCI นำหุ้น A-Shares ของจีนเข้าคำนวณในเฟสที่ 2 ผ่านพ้นไปแล้วในสิ้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา

(2) อิงจากสถิติในอดีต ภายหลังการจัดงาน Thailand Focus (ปี 2018 เพิ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 29-31 ส.ค.) Foreign Fund Flows มักมีทิศทางเป็นบวก (โอกาส = 73%) โดยนักลงทุนต่างชาติมักเป็นผู้ซื้อสุทธิเฉลี่ยประมาณ 5-6 พันล้านบาทในช่วง 2-4 สัปดาห์ข้างหน้า และ (3) คาดหวังกลางเดือน ก.ย. นี้ การเมืองไทยจะมีความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องของการเลือกตั้งจากการประกาศใช้ พ.ร.ป.ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งครบทั้ง 4 ฉบับ ผสานกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมคลายล็อกพรรคการเมืองให้เริ่มสามารถทำกิจกรรมได้ น่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและเป็นผลดีต่อ Foreign Fund Flows ตามสถิติในอดีต ต่างชาติมักเป็นผู้ซื้อสุทธิในปีที่มีการเลือกตั้ง โดยมีโอกาสสูงถึง 70% และตลาดหุ้นไทยมักปรับขึ้นและให้ผลตอบแทนดีที่สุดในช่วงก่อนการเลือกตั้ง 3-6 เดือนล่วงหน้า (Pre-election Rally)

โดยสรุป ถึงแม้ปัจจัยเสี่ยงภายนอกอาจยังสร้างความผันผวนให้แก่ตลาดหุ้นไทยต่อไป แต่มองปัจจัยภายในประเทศที่แข็งแกร่ง ทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจที่ขยายตัวดี, ความคืบหน้าโครงการลงทุนภาครัฐ และการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดความชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่เดือน ก.ย. เป็นต้นไป จะทำให้ตลาดหุ้นไทยเริ่มเคลื่อนไหวดีกว่า (Outperform) ตลาดหุ้นเกิดใหม่ (EM) โดยคาดว่าจะเข้าสู่แนวโน้มการแกว่งซิกแซกขึ้นได้อีกครั้งในช่วงไตรมาส 4 ดังนั้น มองทุกการอ่อนตัวเป็นจังหวะทยอยสะสมรอบสุดท้ายของปีนี้เพื่อหวังผลระยะ 5-6 เดือนข้างหน้า  ยังคงเป้า SET Index ปลายปีนี้ขึ้นทดสอบระดับ 1800 จุดขึ้นไป

สำหรับหุ้นเด่นในเดือน ก.ย. จะเน้นหุ้นขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จาก Foreign Fund Flows ไหลเข้า และส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่แนวโน้มกำไรครึ่งปีหลังดีกว่าครึ่งปีแรก แนะนำ BJC, CK, COM7, HANA, IRPC, MINT, PRM และ TCAP ด้านแนวรับและแนวต้านสำคัญของ SET Index เดือนนี้อยู่ที่ 1700-1710, 1685 และ 1730, 1750 จุด ตามลำดับ

 

บล.กรุงศรี ระบุว่า แนวโน้มเดือน ก.ย. คาด SET Index ขึ้นต่อ ตอบรับการเมืองในประเทศชัดเจนคาดพรบ.ส.ส.และส.ว.ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 13 ก.ย.และเริ่มมีผลบังคับใช้ 14 ก.ย. แต่มองการเพิ่มขึ้นในกรอบจำกัดเนื่องจากยังถูกกดดันจากปัญหา Trade war และ ปัญหาเศรษฐกิจของอาร์เจนติน่าและตุรกี โดยให้กรอบดัชนีเดือนนี้ที่ระดับ 1,680-1,750 จุดโดยมี Top pick คือ AEONTS, DCC, MINT, STEC และ TKN

 

บล.เคจีไอ กลยุทธ์การลงทุนในเดือน ก.ย.มองว่าความกังวลต่อปัจจัยภายนอกจะมาก่อน แล้วความคาดหวังด้านบวกต่อปัจจัยในประเทศค่อยตามมา กล่าวคือ SET Index ในช่วงต้นเดือนอาจปรับตัวตามกระแสข่าวลบเกี่ยวกับการเจรจาการค้าโลก ซึ่งน่าจะส่งผลให้กระแสทุนต่างชาติยังอ่อนแออยู่

ขณะที่แนวโน้มที่ ธ.กลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ อาจหนุนให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นอีกรอบหนึ่ง ซึ่งน่าจะจำกัดทางขึ้นของตลาดหุ้นเกิดใหม่ในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม  มองว่าความคาดหวังด้านบวกต่อปัจจัยในประเทศจะกลับเข้ามา และช่วยหนุน SET Index ในช่วงหลังของเดือน โดยนักลงทุนกำลังรอการโปรดเกล้า พรป. การเลือกตั้งสองฉบับ ในขณะที่รัฐบาล คสช. ก็เริ่มผ่อนคลายข้อห้ามของการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตั้งแต่ปลายเดือนที่แล้ว

จากมุมมองของปัจจัยต่างประเทศยังมีความไม่แน่นอน และกระแสเงินทุนในหุ้นภูมิภาคและหุ้นไทยยังผันผวน ดังนั้น  จึงแนะนำให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงหุ้นตัวหลักโดยทั่วไปซึ่งน่าจะได้รับผลกระทบจากฟันด์โฟลว์ที่ยังอ่อนแอ และแนะนำให้เน้นหุ้นที่เชื่อมโยงโดยตรงกับปัจจัยบวกภายในประเทศ เนื่องจากการเมืองที่ชัดเจนมากขึ้นน่าจะทำให้หุ้นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งกลายมาเป็นจุดสนใจ เช่นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากภาวะการลงทุนที่แข็งแกร่งขึ้นจากโครงการโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย EEC โดย เลือก CK*, SEAFCO และ AMATA*

นอกจากนี้ แนะนำหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการจับจ่ายใช้สอยในต่างจังหวัดที่เร่งตัวขึ้นตามการบริโภคในประเทศ และรายได้ภาคเกษตรที่แข็งแกร่งขึ้น บวกกับการที่มีกิจกรรมทางการเมืองเพิ่มขึ้นในไตรมาส4/61 เช่น GLOBAL* และ KTC* และท้ายที่สุด  ยังมองว่าในช่วงที่ตลาดมีความไม่แน่นอนสูงเช่นนี้ นักลงทุนน่าจะมองหาการลงทุนที่กำไรมีคุณภาพดี ต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งในธีมนี้ แนะนำซื้อหุ้น BGRIM* และ PLANB

 

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส กลยุทธ์การลงทุนเดือนก.ย.61 ยังคงเป็น “การเลือกซื้อหุ้นใน Theme การลงทุนต่างๆ” ซึ่งในเดือนนี้มี Theme ที่น่าสนใจ ดังนี้

Theme การบริโภคและการลงทุนฟื้นตัว & EEC – หุ้นเด่นที่แนะนำเป็น  AEONTS, HMPRO, AMATA, STEC, SEAFCO

Theme ท่องเที่ยวกำลังเข้าสู่ช่วง High Season – หุ้นเด่นที่แนะนำเป็น  AOT, ERW, MINT

Theme ค่าการกลั่นใน 2H61 จะสูงขึ้น และราคาน้ำมันดิบทรงตัวสูง – หุ้นเด่นที่แนะนำเป็น  BCP, PTTEP

Theme ส่งออกเติบโตดี & มาร์จิ้นฟื้นตัว – หุ้นเด่นที่แนะนำเป็น KCE, HANA, SVI

Theme ปันผลสูง – หุ้นเด่นที่ แนะนำเป็น ANAN, GOLD, LPN, QH, SC, BCP, TMT

ปัจจัยภายนอกที่ติดตาม

ตัวแทนเจรจาการค้าแคนาดาได้ออกมายอมรับว่ายังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ฉบับใหม่กับสหรัฐเมื่อวันที่ 31 ส.ค.61 แต่ทั้งสองฝ่ายนัดเจรจากันอีกรอบในวันพุธที่ 5 ก.ย.นี้  ซึ่งตลาดก็มีความหวังว่าจะมีความคืบหน้ามากขึ้น

/+ คาดราคาน้ำมันดิบ BRENT เดือนก.ย.61 จะยังทรงตัวสูงกว่า 70 ดอลลาร์/บาร์เรลได้ แม้ว่าสหรัฐจะผลิตน้ำมันดิบสูง แต่เวเนซูเอลา และอิหร่านผลิตและส่งออกได้น้อยลง

+ ค่าการกลั่นไตรมาส 3/61 มีแนวโน้มสูงขึ้นเทียบไตรมาสก่อนหน้าเพราะเป็นฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในสหรัฐ ส่วนในไตรมาส4/61 ก็มีอุปสงค์น้ำมันกลั่น (ดีเซล & Jet) เพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นฤดูหนาว

ประเทศอาร์เจนตินา, ตุรกี, อิตาลี ยังถูกกดดันด้วยปัญหาเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งอาร์เจนตินาได้พึ่งพา IMF แล้ว  คาดว่าประเด็นนี้จะเป็นลบต่อ Sentiment การลงทุนในระยะสั้น แต่ไม่น่ากระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศคืบหน้าขึ้น

+คาดว่าในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในประมาณไตรมาส 1/62 การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานน่าจะมีความคืบหน้ามากขึ้น ซึ่งรวมถึงโครงการลงทุนสาธารณูปโภคในพื้นที่ EEC ด้วย

+ระบบสาธารณูปโภคที่ดีขึ้นในพื้นที่ EEC จะจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น ซึ่งเป็นบวกกับผลประกอบการของกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม  (หุ้นที่เกี่ยวข้อง คือ AMATA, WHA, ROJNA) และบวกกับกลุ่มรับเหมา & วัสดุก่อสร้าง (หุ้นเด่น คือ CK, STEC, SEAFCO, SCC, TMT) ในระยะต่อไป ส่วนในระยะสั้น ประเด็นนี้จะเป็นบวกต่อ Sentiment การลงทุนในกลุ่มดังกล่าวก่อน

+หลังการเลือกตั้งก็จะเห็นความชัดเจนของรัฐบาลและการเมืองไทยมากขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนการลงทุนภาคเอกชนทั้งจากในประเทศและจากต่างประเทศ

 

บล.เอเซีย พลัส กลยุทธ์การลงทุน SET มีโอกาสอ่อนตัวมาแตะ 1700 จุด อุปสรรคการค้ายังมี การเจรจาการค้าสหรัฐ-แคนาดา ไม่ราบรื่น และ อ ก.ย. สหรัฐจะขึ้นภาษีจีนรอบใหม่ ขณะที่ในประเทศ ธปท. เตรียมคุมการให้สินเชื่อทะเบียนรถยนต์ สร้าง sentiment เชิงลบต่อหุ้นเช่าซื้อ/ลิสซิ่ง

กลยุทธ์ให้ปรับพอร์ตและเน้น Domestic Play ที่  P/E และ Beta ต่ำ (DCC, CPF, RATCH, EASTW) เติบโตสูง 2H61 และ Laggard (BH, SCCC) หุ้นอาหารส่งออกเข้าสู่ High Season (CPF) Top Pick MACO([email protected]) เติบโตแรง จากการรุกธุรกิจสื่อนอกบ้านในต่างประเทศทำให้ PEG ลดลงจาก 1.31 เท่าปีนี้ เหลือ 0.3 เท่าปีหน้า

คาด Fund Flow เดือน ก.ย. ยังเป็นลักษณะสลับซื้อ-ขาย วันศุกร์ที่ผ่านมาต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 ด้วยมูลค่ากว่า 499 ล้านเหรียญ แต่เป็นการซื้อสุทธิเฉพาะตลาดหุ้นแถบเอเชียเหนือ คือ เกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิ 450 ล้านเหรียญ, ไต้หวัน 100 ล้านเหรียญ ต่างกับตลาดหุ้นในกลุ่ม TlP ที่ถูกขายสุทธิ คือ ฟิลิปปินส์ขายสุทธิ 1 ล้านเหรียญ, อินโดนีเซีย 29 ล้านเหรียญ และไทยที่ยังขายสุทธิ 21 ล้านเหรียญ หรือ 680 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 6 มูลค่าขายรวม 7.61 พันล้านบาท) ต่างกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิอีก 388 ล้านบาท (ซื้อสุทธิติดต่อกัน 12 วัน มีมูลค่ารวมสูงถึง 2.31 หมื่นล้านบาท)

แนวโน้ม Fund Flow ในเดือน ก.ย. 61 แม้สถิติเดือน ก.ย. ย้อนหลัง 10 ปี บ่งชี้ว่าต่างชาติมักซื้อหุ้นไทยเฉลี่ยเล็กน้อย 5.20 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิ 7 ใน 10 ปี) แต่ปีนี้เชื่อว่าแรงซื้อน่าจะเป็นไปในลักษณะซื้อสลับขาย เพราะตลาดฯต้องเผชิญสงครามการค้าที่ยังยืดเยื้อ รวมถึงการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ตามแผน กดดันตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงไทย และยังสอดคล้องกับสถิติย้อนหลัง 10 ปี ที่ SET lndex มักจะผันผวนมาก ให้ผลตอบแทนอยู่ในช่วง -14.4% ถึง +9.77% และมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.5%


*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button