PTT กางแผน “CHANGE” รับไทยแลนด์ 4.0 บุกตลาดอินโดฯ-เคาะพันธมิตรรถไฟเชื่อม 3 สนามบินก.ย.นี้

PTT กางแผน "CHANGE" รับไทยแลนด์ 4.0 บุกตลาดอินโดฯ-เคาะพันธมิตรรถไฟเชื่อม 3 สนามบินก.ย.นี้


นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า แนวคิดในการบริหารจัดการบริษัทในระยะเวลาประมาณ 2 ปีนับจากนี้ จะสานต่อการดำเนินงานตามกลยุทธ์ของบริษัทที่ได้วางไว้จากรุ่นสู่รุ่น โดยปรับปรุงการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความท้าทายต่าง ๆ ทั้งปัจจุบันและอนาคตผ่านนโยบาย “CHANGE for Future of Thailand 4.0” โดยมีองค์ประกอบ 6 ด้าน ได้แก่

Continuity เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ด้วยแผนกลยุทธ์ 3D คือ Do now, Decide now และ Design now

Honesty ความซื่อสัตย์และมีจริยธรรมซึ่งผู้บริหารและพนักงานทุกคนต้องปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียอย่างสมดุล

Alignment ขยายความร่วมมือ สร้างพลังร่วมเพื่อบูรณาการความเชี่ยวชาญ กระจายโอกาสการเติบโตออกสู่สังคมภายนอก

New Innovation Solution สร้างสรรค์สิ่งดีและสิ่งใหม่ หาธุรกิจที่เป็นเส้นทางสู่ความสำเร็จใหม่ (New S-Curve) ของ PTT โดยนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และแนวความคิดใหม่มาสรรค์สร้างให้เกิดการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพ

Good Governance กำกับดูแลดี มีประสิทธิภาพ ยึดมั่นการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล เน้นความโปร่งใส เที่ยงตรง เป็นธรรม และตรวจสอบได้

Excellence Team Work สร้างคนรุ่นใหม่ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง มุ่งพัฒนาพนักงานทุกรุ่นให้สามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมอย่างมีศักยภาพ นอกจากนี้ยังต้องเป็นคนกล้าที่จะก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆ

“จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและความท้าทายในอนาคต PTT จึงต้องมีวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ที่จะดำเนินธุรกิจให้เติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน โดยยึดหลักธรรมาภิบาล มุ่งเป็นองค์กรตัวอย่างของประเทศ ร่วมเป็นหนึ่งในฟันเฟืองขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี พัฒนาประเทศภายใต้นโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” โดย PTT ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องเป็นองค์กรแห่งความภาคภูมิใจ เน้นความโปร่งใส สู่ความยั่งยืน” นายชาญศิลป์ กล่าว

โดย ในส่วนของการบริหารงานโดยยึดหลักธรรมาภิบาลโดยจะไม่ให้มีเรื่องการทุจริต หลังจากก่อนหน้านี้ PTT มีข่าวที่ค้างคาอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือกรณีวัตถุดิบหายของบริษัทในกลุ่มอย่าง บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC โดย PTT เพิ่งตั้งหน่วยกำกับดูแลองค์กรและกิจการสัมพันธ์ (GRC) เพื่อมาดูแลองค์กรในกลุ่ม PTT ให้มีระบบดูแลอย่างครบถ้วนและเหมาะสม ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนในอดีต เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว ตลอดจนการเตรียมบุคลากร เพื่อขับเคลื่อนทรัพย์สินของกลุ่ม PTT ที่มีอยู่เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ PTT ยังคงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความยั่งยืน 3 ด้าน (3P) อย่างสมดุล คือ การทำธุรกิจควบคู่กับการดูแลชุมชนและสังคม (People) การอนุรักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Planet) และเป็นฐานความมั่นคงให้แก่ภาคเศรษฐกิจและสังคมเติบโตอย่างแข็งแรงและยั่งยืน (Prosperity) เป็นประเทศไทยก้าวหน้าและมีความสุขต่อไป

นอกจากนี้ นายชาญศิลป์ กล่าวอีกว่า นโยบาย CHANGE ของ PTT เพื่อเป็นการเตรียมตัวรองรับเทคโนโลยีพลังงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในระยะสั้น โดยการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเป็นการสร้างฐานเรื่องนวัตกรรมให้กับประเทศ โดยใช้พื้นที่เขตนวัตกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ในพื้นที่วังจันทร์วัลเล่ย์ จ.ระยอง เป็นฐาน

ทั้งนี้ ส่วนของแผนธุรกิจต่างประเทศ นายชาญศิลป์ เปิดเผยว่า การลงทุนใหม่ในอินโดนีเซียขณะนี้จะยังคงเน้นการทำธุรกิจเทรดดิ้งที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงการลงทุนเดิมในธุรกิจถ่านหินที่ขณะนี้จะเพิ่มความระมัดระวัง โดยมองโอกาสเรื่องการทำโรงไฟฟ้าถ่านหินบนพื้นที่ปากเหมือง และศึกษาเพื่อนำเข้าตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย โดยคาดว่าจะตัดสินใจว่าจะเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ในช่วงไตรมาส 1 หรือ 2 ของปี 62

สำหรับพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กลุ่ม PTT มีการลงทุนอยู่มากกว่าครึ่งหนึ่งของการลงทุนทั้งหมด ทำให้บริษัทสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอสรุปพันธมิตรที่จะเข้าร่วมประมูลที่ล่าสุดคัดเลือกเหลือ 2 กลุ่มในประเทศ ซึ่งเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการเดินรถไฟฟ้า จากที่มีการเจรจาก่อนหน้านี้กว่า 10 กลุ่ม โดยจะคัดเลือกให้เหลือพันธมิตรเพียงกลุ่มเดียวต่อไป

โดยคณะกรรมการบริษัทจะมีการพิจารณาคัดเลือกได้ในการประชุมวันที่ 28 ก.ย.61 แต่หากไม่ทันก็ต้องเป็นช่วงเดือน ต.ค. ก่อนจะสรุปว่าจะเข้าร่วมยื่นประมูลโครงการดังกล่าวหรือไม่ในช่วงเดือนพ.ย.61 และคาดว่าโครงการจะคัดเลือกผู้ชนะประมูลได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 62

ทั้งนี้ หากกลุ่ม PTT จะเข้าร่วมลงทุนโครงการดังกล่าวจะดำเนินการในนามของ บริษัท เอนเนอร์ยี คอมเพล็กซ์ จำกัด หรือ EnCo ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ถือหุ้นโดย PTT และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ฝ่ายละ 50%

อีกทั้ง ส่วนของการประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 65-66 อย่างบงกชและเอราวัณนั้น ก็เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล PTTEP ยังคงพิจารณาเข้าไปประมูลและกระบวนการตัดสินคงเป็นช่วงไตรมาส 1/62 ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาให้ดีและมีความเหมาะสมในการยื่นเข้าประมูล

ส่วนกรณีที่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ PTT จะเข้าซื้อกิจการไฟฟ้าของ บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW นั้น เนื่องจากผู้ถือหุ้นใหญ่ของ GLOW มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทุนในไทยต้องการขายธุรกิจออกมา ขณะที่ GPSC ก็มีการทำธุรกิจในบริเวณพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับ GLOW

อย่างไรก็ตาม หาก GPSC เข้าซื้อกิจการ GLOW ก็จะเป็นประโยชน์ที่จะเกิดการ Synergy และช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการเกิดโครงการลงทุนใน EEC ซึ่งการจะเข้าซื้อกิจการ GLOW ได้ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลอย่างคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และกระทรวงพาณิชย์

ขณะเดียวกัน การเข้าซื้อกิจการ GLOW ยังไม่น่ามีอำนาจเหนือตลาด เนื่องจากกำลังการผลิตของ GLOW และ GPSC รวมกันราว 5 พันเมกะวัตต์  เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตรวมของทั้งประเทศที่ราว 3-4 หมื่นเมกะวัตต์ จากผู้ผลิตไฟฟ้ารวมมากกว่า 30 รายทั่วประเทศ

นอกจากนี้กำลังการผลิตไฟฟ้าของ GLOW ที่มีราว 3 พันเมกะวัตต์นั้น ส่วนใหญ่รองรับลูกค้าอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด ไม่ได้เข้าระบบสายส่งไฟฟ้าของประเทศมากนัก ซึ่งหาก กกพ. อนุมัติให้เข้าซื้อกิจการ GLOW ได้กำลังการผลิตรวมกันก็จะทำให้อยู่ในอันดับ 5 ของประเทศ เมื่อนับรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วย

ทั้งนี้ ไม่ว่า กกพ. จะตัดสินให้สามารถซื้อกิจการ GLOW ได้หรือไม่ได้นั้น เชื่อว่า GPSC จะมีมาตรการเตรียมตัวรองรับในเรื่องดังกล่าวแล้ว

Back to top button