KBANK ตั้ง 2 ฝ่ายใหม่สร้างตำแหน่งงาน”Data Alchemist” หวังสร้างมูลค่าเพิ่ม 2 พันลบ.

KBANK ตั้ง 2 ฝ่ายใหม่สร้างตำแหน่งงาน "Data Alchemist" ดันใช้บิ๊กดาต้าหนุนธุรกิจ หวังสร้างมูลค่าเพิ่ม 2 พันลบ.ปีนี้


นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า ธนาคารจัดตั้ง 2 ฝ่ายงานใหม่ ภายใต้สายงานบริหารยุทธศาสตร์องค์การ เพื่อสร้างความสามารถสูงสุดด้าน Data Analytics ให้กับองค์กร ตลอดจนกำหนดแผนสรรหาและพัฒนาบุคลากรด้าน Data Alchemist โดยวางเป้าหมายสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธนาคารไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาทในปีนี้

โดย ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมีบิ๊กดาต้า เป็นข้อมูลเกี่ยวธุรกรรมการเงินประเภทต่าง ๆ จำนวนมหาศาล และเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาศึกษาเพื่อเพิ่มความเข้าใจลูกค้า ตลอดจนใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์นำไปสู่การพยากรณ์และนำเสนอวิธีการใหม่ ๆ ที่จะเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจ เพิ่มความสามารถการแข่งขัน แสวงหาโอกาสทางธุรกิจ สร้างรายได้ให้แก่ธนาคารในระยะยาว และสามารถเพิ่มประสิทธิผลและลดต้นทุนการทำธุรกิจได้

สำหรับ 2 ฝ่ายงานใหม่ ได้แก่ Enterprise Data Analytics Department (EA) เป็นศูนย์กลางดูแลการสร้างความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Analytics Use Case) ของธนาคาร สรรหาและจัดสรรทรัพยากร เพื่อสนับสนุนการวิเคราะห์ข้อมูล ติดตามและขยายผลให้มีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจ (Business Data Analytics) อย่างแพร่หลายจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร รวมทั้งมีหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกทั้งกับหน่วยงานของธนาคารและลูกค้าของธนาคาร เพื่อสนับสนุนการวางกลยุทธ์ของธนาคารที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล

อนึ่ง Digital Lending Department (DL) รับผิดชอบการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกจากหลายฐานข้อมูล เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อได้ตรงกับความต้องการของลูกค้าในราคาที่เหมาะสมกับระดับความสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย (Personalized Risk Based Pricing) ช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และประสิทธิผลให้ธนาคาร พร้อมลดความเสี่ยงด้านเครดิต ดูแลเรื่องการสร้างรูปแบบการปล่อยสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล (Digital Lending Platform) ให้เกิดการดำเนินการเบ็ดเสร็จบนแอพพลิเคชัน K PLUS เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ลูกค้าในยุคดิจิทัล ซึ่งลูกค้าสามารถทราบผลอนุมัติและได้รับเงินเข้าบัญชีภายใน 1 นาที รวมทั้งพัฒนาบริการ Lending Service Platform เพื่อแสวงหารายได้จากช่องทางใหม่ ๆ ให้แก่ธนาคาร

นอกเหนือจากนั้น ธนาคารมีแผนสรรหา และพัฒนาบุคลากรด้าน Data Analytics ให้มีการยกระดับงานด้านนี้ให้มีความพิเศษ น่าสนใจ และแตกต่างจากองค์กรอื่นๆ โดยเพิ่มตำแหน่งงาน Data Alchemist ที่เน้นการผสมสานการใช้บิ๊กดาต้า เข้ากับเทคนิค Advanced Analytics ในการหาสูตรเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ โดยทำงานร่วมกับหน่วยธุรกิจแบบไร้รอยต่อ ภายใต้ Concept: Turning Data into Gold; the Ultimate of Advanced Analytics โดยมองว่าโอกาสและความท้าทายทางธุรกิจที่ธนาคารเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เป็นช่วงเวลาที่ดีที่ให้บุคลากรด้าน Data Analytics ของประเทศได้เข้ามาเรียนรู้ พัฒนา และเพิ่มขีดความสามารถของตัวเองแบบก้าวกระโดด โดยธนาคารจะมีการปรับแผนการพัฒนาศักยภาพ ตลอดจนดูแลการจัดการเรื่องการเติบโตทางอาชีพ ให้มีความเข้มข้น ชัดเจน และเหมาะสมกับความสามารถของพนักงานกลุ่มนี้

โดย ธนาคารกสิกรไทย มีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นธนาคารที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven Bank) ซึ่งการสร้างวัฒนธรรมองค์กรของการใช้ข้อมูลเป็นปัจจัยในการตัดสินใจ (Data-Driven Culture) โดยวางรากฐานสำคัญ 4 ด้านให้เกิดขึ้นในธนาคาร ได้แก่

1.ด้าน Data สร้างฐานข้อมูลแบบรวมศูนย์เพื่อให้เกิดข้อมูลหนึ่งเดียว (Single source of truth) พร้อมส่งเสริมให้มีการเข้าถึงข้อมูลแบบข้ามฝ่ายงาน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ข้อมูลในรูปแบบใหม่ ๆ โดยยังคงรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลลูกค้าไว้สูงสุด

2.ด้าน Infrastructure & Tools จัดเตรียมซอฟร์แวร์ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลรูปแบบต่าง ๆ ที่พร้อมตอบสนองการใช้งานของธุรกิจธนาคารในทุกระดับ

3.ด้าน Talent มีการจัดหลักสูตรพัฒนาทักษะพนักงานเป้าหมายทั้งธนาคารให้สามารถใช้งานเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลชั้นสูงได้ เพื่อนำไปสู่การสร้างประโยชน์แพร่กระจายในแต่ละหน่วยงานทั่วทั้งองค์กร พร้อมจัดตั้ง community ของบุคลากรด้านดาต้าเพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน

4.ด้าน Process สร้างกระบวนการทำงานที่กระตุ้นให้เกิดการนำดาต้ามาใช้งานจริง (Use Cases) ส่งสริมให้ฝ่ายงานต่าง ๆ มีการตั้งคำถามที่มีความหมาย และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบที่ช่วยตอบสนองโจทย์ทางธุรกิจ ทั้งในด้านการแก้ปัญหาและการสร้างธุรกิจในรูปแบบใหม่ ๆ

ทั้งนี้ ภายใต้กลยุทธ์ที่วางไว้ ธนาคารจะสามารถไปสู่ Data-Driven Bank ได้อย่างสมบูรณ์และจะสร้างบริการที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยตั้งเป้าหมายภายในปี 2561 ธนาคารจะสามารถนำฐานข้อมูลบิ๊กดาต้ามาพัฒนาเป็นการใช้งานจริง (Use Cases) ได้ไม่ต่ำกว่า 400 กรณี สร้างรายได้หรือลดต้นทุนให้แก่ธนาคารเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท และภายในปี 2563 จะใช้บิ๊กดาต้าสร้างรายได้หรือลดต้นทุนให้แก่ธนาคาร เป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 50% ของทั้งหมด

Back to top button