“บรรยง” ที่ปรึกษาการเงิน GPSC ออกโรงโต้ “กรณ์” ชี้ข้อคัดค้าน “เป๋ในหลักการ!!”
"บรรยง" ที่ปรึกษาการเงิน GPSC ออกโรงโต้ "กรณ์" ชี้ข้อคัดค้าน "เป๋ในหลักการ!!"
สืบเนื่องจากกรณีที่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT จะเข้าซื้อกิจการ บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด(มหาชน) หรือ GLOW ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงคนพลังงานในวงกว้าง รวมถึงบุคคลที่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ว่าการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 75
โดยเฉพาะนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้ออกมายื่นหนังสือคัดค้าน และแสดงความคิดเห็น โดย ระบุว่า “รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่กรณีที่มีความจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ การรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม การจัดให้มีสาธารณูปโภค หรือการจัดทําบริการสาธารณะ” รวมทั้งมาตรา 7(3) มาตรา 60 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550″
ขณะที่ นายบรรยง พงษ์พานิช อดีตคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยระบุว่า “ห้ามรัฐแข่งกับเอกชน? มีผู้ยกเอาบทบัญญัติในมาตรา 75 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่ระบุว่า รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ การรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมการจัดให้มีสาธารณูปโภค หรือการจัดทำบริการสาธารณะ” พร้อมทั้งมีการกล่าวอ้างว่า ข้อความนี้มีอยู่ในรัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับ ตั้งแต่ฉบับ 2540 เป็นต้นมา
มาตราดังกล่าวถึงแม้จะมีเจตนาเป้าหมายที่ดี ที่ถูกต้อง แต่ถ้าคำนึงถึงสภาพที่เป็นจริง มันยังเป็นเรื่องที่ขัดกับสิ่งที่เป็นอยู่ สิ่งที่ทำมา ถ้าบังคับใช้ในทันทีย่อมเกิดความวุ่นวายถ้าจะระบุหลักการไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็ควรจะระบุไว้แค่ “รัฐต้องมีเป้าหมายที่จะไม่ประกอบกิจการ…….”
ทั้งนี้เพราะเป็นธรรมดาของประเทศด้อยพัฒนาที่ ตลาด และเอกชนยังไม่แข็งแกร่งพอที่จะรับภาระสร้างสินค้าและบริการได้เพียงพอ โดยเฉพาะกิจการสาธารณูปโภคที่ต้องลงทุนขนาดใหญ่ รัฐจึงจำต้องเป็นผู้ดำเนินการเริ่มต้นทั้งทำในหน่วยงานของรัฐเอง หรือจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจขึ้นมาดำเนินการ และเมื่อเอกชนทำได้ รัฐควรเปิดให้เข้ามาแข่งขัน รวมทั้งกิจการที่รัฐเคยทำ ถ้าแปรรูปได้ก็ควรจะ”แปรรูป”ไปเสีย ส่วนรัฐเอาทรัพยากรไปทำอย่างอื่นที่เอกชนไม่ทำ เช่น ความมั่นคง การศึกษา การอนามัย สิ่งแวดล้อม รวมทั้งรัฐสวัสดิการต่างๆ ซึ่งหลักการนี้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป
อย่างที่มีการซื้อกิจการโรงไฟฟ้าก็เหมือนกัน ถ้าปตท.คิดว่าการควบรวมทำให้เกิดประโยชน์ มี Synergy ช่วยลดต้นทุน สร้างขนาดEconomy of Scale และสุดท้ายสร้างมูลค่าเพิ่ม เขาก็ควรเดินหน้าได้ ภาครัฐก็เพียงแต่คอยดูแลควบคุมตามพรบ.การแข่งขันทางการค้า ไม่ให้ผูกขาด ไม่ให้ครอบงำตลาด และดูว่าขัดต่อกฎหมายพลังงานหรือไม่
“ขอกลับมาที่รัฐธรรมนูญมาตรา 75 นั่นอีกที ผมไม่เถียงหรอกครับว่ามันเขียนอย่างนั้นจริงๆ แต่ก็อย่างที่บอกแหละครับ มันเป็นการเขียนที่บกพร่อง ไม่สามารถปฏิบัติได้ โดยเฉพาะกับรัฐวิสาหกิจ ไม่อย่างนั้น …การบินไทยก็ต้องเลิกบิน เลิกขายขนม เลิกขายกล่องงานศพ …กรุงไทย ออมสิน ต้องเลิกให้กู้ เลิกบัตรเครดิต …ทศท. CAT ต้องเลิกธุรกิจโทรคมนาคม (อันนี้น่าจะดีแฮะ) …EGAT เลิกเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า ฯลฯ” นายบรรยงระบุ ไว้ในบทความ
โดยเนื้อหาในบทความยังระบุด้วยว่า ถึงแม้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเรื่องนี้เป็นเรื่องดี แต่การปฏิรูปต้องใช้เวลา ต้องมีขั้นตอน อย่างที่คณะกรรมการนโยบายวิสาหกิจ (คนร.)เคยวางแผนไว้ ก็คือ กันการบริหารให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส ให้แข่งขันกับเอกชนเต็มที่ ในระยะยาวก็ควรที่จะค่อยๆแปรรูปไปเสียให้หมด อย่างที่ประเทศพัฒนาเขาทำ
“สำหรับผมนั้นชัดเจนครับ ว่าการคัดค้านเรื่องนี้นั้นไม่มีหลักการที่หนักแน่น เป็นการเอาวิจารณญาณหลายเรื่องมาปนๆกัน ผมคิดว่าเป็นการหลงทาง เป็นการเป๋ในหลักการอย่างแน่นอน ไม่ได้เป็นการมองต่างมุมแต่อย่างใดเลยครับ …และนี่เป็นเรื่องสำคัญนะครับ เพราะมันไม่ใช่แค่มาเถียงกันเอามัน มันจะมีรายการเป็นแสนล้านบาทที่เป็นไปตามหลักตลาดที่ควรจะเป็น ถ้าภาครัฐดันบ้าจี้ไประงับตามที่เรียกร้องผิดๆ มันจะเกิดผลกระทบตามมามากมาย” นายบรรยง ระบุไว้ในข้อความ
อนึ่ง นายบรรยง พงษ์พานิช ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท ทุนภัทร จำกัด (มหาชน) และเป็นอดีตประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการด้านวานิชธนกิจแก่ทั้งภาครัฐและบริษัทเอกชนชั้นนำในประเทศไทย
โดยบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับการเข้าทำรายการซื้อขายหุ้นของ GPSC และ GLOW อีกทั้งเป็นแกนนำร่วมกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ในการจัดหาแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินราว 1 แสนล้านบาท เพื่อรองรับการเข้าทำรายการดังกล่าว