ทริสฯจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ BDMS วงเงินไม่เกิน 2 พันลบ.ที่ AA-/Stable

ทริสฯจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ BDMS วงเงินไม่เกิน 2 พันลบ.ที่ AA-/Stable


ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาทของ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ที่ระดับ “AA-” พร้อมทั้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “AA-” ด้วย โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ตามวัตถุประสงค์ของบริษัทและชำระหนี้เงินกู้ยืม

อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำธุรกิจในฐานะผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ เครือข่ายในการรองรับ-ส่งต่อและให้บริการผู้ป่วยที่แข็งแกร่งและกว้างขวางของบริษัท ตลอดจนผลการดำเนินงานที่เข้มแข็งด้วยการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังรวมถึงคณะผู้บริหาร บุคลากร และผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่มีความสามารถและมากประสบการณ์ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการใช้เงินลงทุนจำนวนมากเพื่อการขยายกิจการในระยะปานกลาง ตลอดจนสภาวะการแข่งขันในธุรกิจเพื่อสุขภาพทั้งในตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ของบริษัทสะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถคงความเป็นผู้นำในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนทั้งในประเทศและในภูมิภาค อีกทั้งยังคงผลประกอบการที่เข้มแข็งไว้ได้ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังให้บริษัทขยายเครือข่ายโรงพยาบาลโดยไม่ทำให้สถานะทางการเงินอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ

อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับแรงกดดันให้ต้องปรับลดลงหากบริษัทมีการลงทุนโดยการก่อหนี้เชิงรุก หรือหากการทำกำไรของบริษัทแย่ลงเป็นระยะเวลานาน โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทสามารถเกิดขึ้นได้หากสถานะทางการเงินของบริษัทปรับดียิ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ทำให้ระดับอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ระดับ 60%-70% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง

BDMS ก่อตั้งในปี 2512 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2534 บริษัทเป็นผู้นำธุรกิจในฐานะผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศด้วยเครือข่ายตราสัญลักษณ์โรงพยาบาลที่แข็งแกร่ง ปัจจุบันบริษัทมีโรงพยาบาลในเครือทั้งหมด 41 แห่งภายใต้ตราสัญลักษณ์โรงพยาบาลที่เป็นที่รู้จักในประเทศจำนวน 5 ตรา ภายใต้ตราสัญลักษณ์โรงพยาบาลต่างประเทศ 1 ตรา และภายใต้ตราสัญลักษณ์โรงพยาบาลอื่น ๆ ในประเทศอีก 6 ตรา โดยตราสัญลักษณ์โรงพยาบาลหลักคือโรงพยาบาลกรุงเทพ (19 แห่ง) โรงพยาบาลสมิติเวช (5 แห่ง) โรงพยาบาลบีเอ็นเอช (1 แห่ง) โรงพยาบาลพญาไท (5 แห่ง) และ โรงพยาบาลเปาโล (3 แห่ง) ตราสัญลักษณ์เหล่านี้เป็นที่รู้จักอย่างดีในกลุ่มคนไทย ส่วนโรงพยาบาล 2 แห่งในประเทศกัมพูชาดำเนินงานภายใต้ชื่อ Royal International Hospital นอกจากนี้ ยังมีโรงพยาบาลอีก 6 แห่งที่ดำเนินงานภายใต้ตราสัญลักษณ์โรงพยาบาลท้องถิ่นคือโรงพยาบาลสนามจันทร์ โรงพยาบาลเทพากร โรงพยาบาลภูเก็ตอินเตอร์เนชั่นแนล โรงพยาบาลศรีระยอง โรงพยาบาลดีบุก และโรงพยาบาลเมืองเพชร ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 บริษัทมีความสามารถในการให้บริการผู้ป่วยในทั้งสิ้น 5,507 เตียง ฐานลูกค้าของบริษัทครอบคลุมกลุ่มคนไข้ระดับกลางถึงระดับบนในหลากหลายทำเล

สถานะทางธุรกิจของบริษัทมีความแข็งแกร่งมากซึ่งสะท้อนถึงการเป็นผู้นำธุรกิจในฐานะผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทมาจากความหลากหลายทั้งในด้านบริการ ฐานลูกค้า และทำเลที่ตั้ง บริษัทเป็นแหล่งรวมบุคลากรทางการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล รวมถึงพนักงานคลังยาและเวชภัณฑ์ อีกทั้งยังมีเครือข่ายระบบส่งต่อผู้ป่วยที่แข็งแกร่งที่สุดด้วย โรงพยาบาลในกลุ่มเน้นการรักษาและให้บริการในระดับตติยภูมิซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้และเพิ่มอัตราการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมทั้งบริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการให้มากยิ่งขึ้น การประหยัดจากขนาดซึ่งเป็นผลจากการใช้บริการห้องปฏิบัติการ การจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือทางการแพทย์หลักร่วมกันจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการใช้ต้นทุนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ผลการดำเนินงานของบริษัทยังคงแข็งแกร่งดีอย่างต่อเนื่อง รายได้จากการดำเนินกิจการโรงพยาบาลของบริษัทในช่วงปี 2552-2557 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีที่ระดับ 18% บริษัทมีรายได้จากธุรกิจโรงพยาบาลในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2558 ที่ 14,845 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของจำนวนคนไข้ในเครือข่ายโรงพยาบาล การเพิ่มจำนวนผู้ป่วยส่งต่อ และการรวมรายได้จากกิจการโรงพยาบาลที่ควบรวมเข้ามา โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2558 โรงพยาบาลมีความสามารถในการให้บริการผู้ป่วยนอกจำนวน 24,434 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 7.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และรองรับผู้ป่วยในจำนวน 3,618 เตียงต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 6.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้จากผู้ป่วยประมาณ 56% มาจากผู้ป่วยใน และที่เหลือมาจากผู้ป่วยนอก ส่วนรายได้จากกลุ่มผู้ป่วยที่ชำระเงินเองมีมากกว่า 63% ของรายได้รวม

ในช่วงปี 2558-2560 สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตโดยเฉลี่ย 10% ต่อปี โดยปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจจะมาจากการเปิดโรงพยาบาลแห่งใหม่และการเติบโตของจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลในเครือของบริษัท อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน(อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) อยู่ที่ 21.5% ในปี 2557 และ 23.6% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2558 เปรียบเทียบกับระดับ 20.4% ในปี 2556 อันเป็นผลมาจากรายได้ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งและการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพของบริษัท โดยทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรของบริษัทในช่วง 2558-2560 จะอยู่ที่ระดับประมาณ 22%

สถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทได้รับแรงหนุนจากผลการดำเนินงานที่ดี ตลอดจนความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งขึ้น และสภาพคล่องที่เพียงพอ เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทอยู่ที่ 10,832 ล้านบาทในปี 2557 ปรับสูงขึ้นจาก 9,411 ล้านบาทในปี 2556 ในช่วงปี 2558-2560 ทริสเรทติ้งคาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ในช่วง 11,000-13,000 ล้านบาทต่อปี โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมจะอยู่ในช่วง 35%-45% ในปี 2558-2560

บริษัทวางแผนจะขยายเครือข่ายโรงพยาบาลในเครือเป็น 50 แห่งภายในปี 2561 เพื่อดำเนินการตามกลยุทธ์การเติบโตดังกล่าว บริษัทก่อสร้างโรงพยาบาลใหม่อย่างต่อเนื่องและได้ซื้อธุรกิจโรงพยาบาลอื่น ๆ เพื่อขยายฐานคนไข้ในหลายพื้นที่ การขยายธุรกิจทำให้ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 22,801 ล้านบาท ณ ปลายปี 2556 มาเป็น 28,991 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริษัทมีฐานทุนขนาดใหญ่และบริหารโครงสร้างเงินทุนอย่างระมัดระวัง จึงทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 40% ในช่วงปี 2556 ถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2558

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนโดยรวมประมาณ 30,000 ล้านบาทในช่วงปี 2558-2560 โดยคาดว่าเงินทุนสำหรับการลงทุนบางส่วนจะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังให้บริษัทจัดการโครงสร้างเงินทุนอย่างระมัดระวังและรักษาความยืดหยุ่นทางการเงินที่เพียงพอ นอกจากนี้ ยังคาดหวังให้บริษัทคงอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับไม่เกิน 45% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าด้วย

Back to top button