ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐสดใสหนุนดอลล์แข็งค่า
ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบสกุลเงินหลักส่วนใหญ่เมื่อคืนนี้ (12 มิ.ย.) เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐโดยรวมออกมาในเชิงบวก ซึ่งส่งสัญญาณถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และเพิ่มกระแสคาดการณ์ในตลาดเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้
สำนักข่าวอินโฟเควสท์รายงานว่า ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.1259 ดอลลาร์สหรัฐ จาก 1.1264 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์ปรับตัวขึ้นแตะ 1.5552 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.5519 ดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวขึ้นแตะ 123.46 เยน เทียบกับระดับ 123.40 เยนในวันก่อน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9283 ฟรังก์ จาก 0.9342 ฟรังก์ และเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.2325 ดอลลาร์แคนาดา จาก 1.2281 ดอลลาร์แคนาดา ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียปรับลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.7735 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7751 ดอลลาร์
นักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้นว่าอุปสงค์ของผู้บริโภคกำลังกระเตื้องขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจจะกำหนดช่วงเวลาที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นจะช่วยหนุนความต้องการดอลลาร์ โดยเมื่อวันศุกร์ได้มีการเปิดเผยผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐเบื้องต้นของเดือนมิ.ย.อยู่ที่ระดับ 94.6 หลังจากแตะระดับ 90.7 ในเดือนพ.ค.
ด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันเดียวกันว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ปรับตัวขึ้นในเดือนพ.ค. ตามราคาพลังงาน ซึ่งบ่งชี้ถึงการเพิ่มขึ้นของภาวะเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ดัชนี PPI สำหรับอุปสงค์ขั้นสุดท้ายเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน ขยับขึ้น 0.1% ในเดือนพ.ค.
ข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งรวมถึงยอดค้าปลีกที่มีการเปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี และตัวเลขจ้างงานเมื่อศุกร์ที่แล้ว แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เทียบกับเมื่อช่วงไตรมาสแรกที่ไม่ค่อยดีนัก
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดีว่า ยอดค้าปลีกพุ่งขึ้น 1.2% ในเดือนพ.ค. โดยอยู่ที่ระดับ 4.449 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่ผู้บริโภคเพิ่มการใช้จ่าย หลังจากมีท่าทีระมัดระวังในช่วงต้นปี
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้ปรับเพิ่มยอดค้าปลีกในเดือนเม.ย. เป็นเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากรายงานในตัวเลขเบื้องต้นว่าอยู่ในระดับทรงตัว และปรับเพิ่มยอดค้าปลีกในเดือนมี.ค. เป็นพุ่งขึ้น 1.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี
ขณะที่ในสัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงแรงงานสหรัฐเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุดวันที่ 6 มิ.ย. เพิ่มขึ้น 2,000 ราย สู่ระดับ 279,000 ราย จาก 277,000 รายในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ แต่ตัวเลขดังกล่าวยังคงต่ำกว่าระดับ 300,000 รายเป็นสัปดาห์ที่ 14 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานยังคงมีความแข็งแกร่ง
ทั้งนี้ เฟดมีกำหนดการประชุมเป็นเวลาสองวันในวันที่ 16-17 มิ.ย.นี้ ซึ่งนักลงทุนรอดูว่าจะมีการส่งสัญญาณถึงช่วงเวลาที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังจับตาวิกฤตหนี้กรีซอย่างใกล้ชิด หลังจากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประกาศระงับการเจรจากับกรีซ โดยระบุว่าไม่ประสบความคืบหน้าในการเจรจา เพราะกรีซและกลุ่มเจ้าหนี้มีความแตกต่างกันในประเด็นที่สำคัญๆ