“คลัง” ไม่ค้าน KTB ควบรวม TMB พร้อมไฟเขียวหลังแบงก์ชงแผน
“คลัง” ไม่ค้าน KTB ควบรวม TMB พร้อมไฟเขียวหลังแบงก์ชงแผน
นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. เปิดเผยว่า เรื่องของการควบรวมกิจการระหว่าง ธนาคารทหารไทย หรือ TMB กับธนาคารกรุงไทย หรือ KTB มีความเป็นไปได้ เนื่องจากที่ผ่านมา นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่เคยคัดค้าน แต่ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการของแต่ละธนาคารที่ต้องเสนอเรื่องขึ้นมา ไม่ใช่ให้คลังสั่งลงไปที่ธนาคาร
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าบริษัทหลักทรัพย์ภัทรเป็นผู้ทำดีลในครั้งนี้ คาดว่าเรื่องดังกล่าวอาจไม่เป็นทางการ หากมีข้อเสนอเข้ามาที่กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจจะต้องเข้าไปพิจารณาในรายละเอียด ก่อนเสนอต่อรัฐมนตรีคลังต่อไป
สำหรับการควบรวมกิจการของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งอาจเริ่มจากปีนี้ หรือปีหน้า เพราะความต้องการของรัฐมนตรีคลังอยากเห็นหลังการควบรวมแล้วธนาคารมีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อแข่งขันกับธนาคารต่างชาติที่มีขนาดใหญ่มากกว่าหลายเท่า ซึ่งทิศทางในอนาคตก็เป็นอย่างนั้น รัฐมนตรีจึงอยากให้เป็นเช่นนั้น
ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ…. หรือมาตรการเพื่อสนับสนุนการควบรวมธนาคารพาณิชย์ไทย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งจะมีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ รวมถึงค่าธรรมเนียมให้แก่ ผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารพาณิชย์ที่ควบรวมกัน หรือโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนให้แก่กัน
โดยกระทรวงการคลังคาดว่าจะเสียรายได้จากส่วนนี้ประมาณ 600-1,400 ล้านบาท แต่จะชดเชยมาด้วยการขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มเติมอีก อย่างน้อย 3-7 พันล้านบาทต่อรายที่ได้ควบรวมกิจการระหว่างกัน
บริษัทหลักทรัพย์ทรีนีตี้ มองว่า หากการควบรวมระหว่าง TMB กับ KTB เกิดขึ้นจริง มองว่าจะเป็นผลบวกกับ TMB มากกว่า เนื่องจากหากใช้วิธีการแลกหุ้น มีโอกาสที่ Swap Ratio จะอ้างอิงต้นทุนของคลังที่ 3.86 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายปัจจุบันของ TMB ค่อนข้างมาก