บอร์ด THAI ไฟเขียวขายเครื่องบินเก่า 8 ลำ คาดทั้งปีขาย 30 ลำพลาดเป้า 42 ลำ
บอร์ด THAI ไฟเขียวขายเครื่องบินเก่า 8 ลำ คาดทั้งปีขาย 30 ลำพลาดเป้า 42 ลำ
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทวานนี้อนุมัติการขายเครื่องบินของบริษัทอีก 8 ลำ ได้แก่ เครื่องบินแอร์บัส 330 จำนวน 4 ลำ และโบอิ้ง 737 จำนวน 4 ลำ ให้กับผู้ซื้อ 2 ราย โดยการขายเครื่องบิน 8 ลำดังกล่าวจะมีการบันทึกด้อยค่าสินทรัพย์ไม่มากนัก เพราะเป็นเครื่องบินเก่าอายุ 20 ปี ทำให้มูลค่าเครื่องบินมีไม่มากนัก
ทั้งนี้ ก่อนหน้าบริษัทขายเครื่องบินได้ 10 ลำรวมแล้วบริษัทขายเครื่องบินได้แล้ว 18 ลำ ซึ่งคาดว่าในปีนี้บริษัทคงสามารถขายเครื่องบินเก่าได้เพียง30 ลำ ต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดว่าจะขายออกไป 42 ลำ เนื่องจากมีเครื่องบินแอร์บัส 343-500 จำนวน 4 ลำที่ขายออกยากมาก แต่บริษัทก็มีแผนรองรับไว้แล้ว ขณะที่เครื่องบินโบอิ้ง 747 จำนวน 8 ลำ เตรียมปลดระวางในเดือน ต.ค.นี้ และขั้นตอนการขายจะแล้วเสร็จจนถึงส่งมอบเครื่องบินภายในไตรมาส 1/59 ทำให้สิ้นปี 58 นี้จะมีฝูงบินจำนวน 101 ลำจากเดิมคาดว่าจะมีฝูงบิน 89 ลำ
นายจรัมพร กล่าวว่า การขายเครื่องบินเก่าออกไปคงไม่ได้สร้างผลกำไรให้กับบริษัทได้มากนัก แต่บริษัทจะได้ประโยชน์ในแง่ที่จะสามารถบริหารจัดการงบการเงินที่มีเครื่องบินเก่าค้างอยู่และสินทรัพย์ที่คงค้าง(Inventery)ออกไป และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดูแลซ่อมบำรุงรักษาเครื่องบินเก่าที่ส่วนใหญ่จอดนิ่งไว้ได้พอสมควร
นอกจากนั้น ฝ่ายบริหารบริษัทจะเสนอคณะกรรมการบริษัทลดเที่ยวบินที่ไม่ทำกำไรเพิ่มเติมอีกในเดือน ก.ค.นี้เพื่อปรับตารางบินฤดูหนาวของปีนี้ ทำให้ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร(ASK) ลดลงประมาณ 5-10% นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทอนุมัติโครงการร่วมใจจาก หรือออกก่อนเกษียณ ซึ่งจะประกาศให้พนักงานทราบภายในสัปดาห์นี้ โดยบริษัทได้เตรียมงบประมาณสำหรับโครงการนี้จำนวน 5.5 พันล้านบาทด้วยการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้
สำหรับแนวโน้มผลประกอบการในช่วงต่อจากนี้นั้น นายจรัมพร กล่าวว่า อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ในช่วงไตรมาส 2/58 คงต่ำกว่า 70% ซึ่งเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และต่ำกว่าไตรมาส 1/58 ที่มี Cabin Factor เฉลี่ย 75% เนื่องจากเป็นปกติไตรมาส 2 ของทุกปีเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงเป้าหมาย Cabin Factor เฉลี่ยทั้งปี 58 ที่ระดับ 80% แม้ว่าสองไตรมาสแรกของปีนี้ยังทำได้ไม่ถึงเป้าหมาย แต่แนวโน้มในไตรมาส 3-4 คาดว่าเป็นไปตามตลาดการบินโลกที่มีสัญญาณการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนและเอเชีย ส่วนยุโรปคาดว่าจะฟื้นตัวได้บ้าง โดยในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ผู้โดยสารของการบินไทยเติบโต 25% ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจีน
ส่วนกรณีที่เกาหลีใต้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไวรัสเมอร์สนั้น ขณะนี้การบินไทยยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดยการบินไทยมีเที่ยวบินไปเกาหลีใต้วันละ 6 เที่ยวบิน
ขณะที่กรณีองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ที่เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานของกรมการบินพลเรือน(บพ.)และให้แก้ไขข้อบกพร้องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย(SSC) ภายใน 90 วัน ซึ่งจะประกาศผลในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ นายจรัมพร กล่าวว่า ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร บริษัทมั่นใจว่ามาตรฐานการบินของการบินไทยมีมาตรฐานการบินสูงเทียบเท่ามาตรฐานสากล ส่วนผลจะเป็นอย่างไรก็ต้องรอติดตาม
ด้าน น.ต.บัญชา ชุนสิทธิ์ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายซ่อมใหญ่ THAI กล่าวว่า บริษัทเปิดให้บริการซ่อมบำรุงเครื่องบินของสายการบินอื่นนอกเหนือจากการบินไทย โดยปัจจุบันมีลูกค้าหลักคือ สายการบินไทยสมายล์ เครื่องบินแอร์บัส 320 จำนวน 20 ลำ มีสัญญา 6 เดือนและสายการบินนกแอร์ เครื่องบินโบอิ้ง 737-800 จำนวน 20 ลำ ลำละ 10 วันโดยมีสัญญา ซึ่งอนาคตจะพยายามทำสัญญาระยะยาวมากขึ้นหรือประมาณ 3 ปี ทำให้ฝ่ายช่างและซ่อมบำรุงทำกำไรให้บริษัทได้เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันบริหารงานเป็นแบบ Profit Center ทั้งนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ จะแยกออกเป็นหน่วยธุรกิจ (BU) แต่จะดำเนินการเมื่อมีความพร้อม