พลังงานจ่อคลอด “พีดีพี” โฉมใหม่ธ.ค.นี้! รฟฟ.ลูบปากเล็งอัพโควต้า SPP เพิ่ม 4.2 พันเมกฯ
พลังงานจ่อคลอด "พีดีพี" โฉมใหม่ธ.ค.นี้! รฟฟ.ลูบปากเล็งอัพโควต้า SPP เพิ่ม 4.2 พันเมกฯ
สืบเนื่องจากกรณีที่ กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างการจัดทำ แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศปี 2561-2580 (พีดีพี) ฉบับใหม่ โดยมีการคาดการณ์ว่าจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้จากนั้นจะเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบในเดือนธันวาคมนี้ โดยจะไม่รอผลการศึกษาของคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ที่กำหนดแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2562
ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การจัดทำแผนพีดีพีฉบับใหม่ในระยะสั้น 5 ปีแรก (2561-2565) จะยึดตามแผนพีดีพีเดิม ซึ่งจะใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนประมาณ 60% โดยจะเป็นการใช้ก๊าซในอ่าวไทยและนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านคิดเป็นสัดส่วนราว อีก 30% จะผลิตเป็นก๊าซแอลเอ็นจี เพื่อรองรับการเปิดเสรีการนำเข้าแอลเอ็นจี
ขณะที่การส่งเสริมพลังงานทดแทนจะมุ่งไปให้ความสำคัญกับการเปิดเสรีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้น และให้คงสัดส่วนการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านไว้ที่ 25% ของกำลังการผลิตทั้งหมด
ส่วนการกระจายสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงนั้น การใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าจะยังคงให้ความสำคัญอยู่ที่ 20% แต่โรงไฟฟ้าถ่านหินที่เกิดขึ้นใหม่ จะถูกกำหนดอยู่ในช่วงกลางแผนพีดีพี โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้อาจจะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากยังไม่เป็นที่ยอมรับ และยังคงถูกต่อต้านจากบางกลุ่ม แต่จะมีโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซแอลเอ็นจีจากการเปิดเสรีนำเข้า มาทดแทน ที่จะก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2565
สำหรับพีดีพีฉบับใหม่นี้จะมุ่งการตั้งโรงไฟฟ้าเป็นรายภาค เพื่อให้แต่ละภาคผลิตไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการใช้ในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเหนือ ภาคใต้ และกรุงเทพฯ ที่ยังมีกำลังการผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอ ดังนั้น จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าใหม่เข้ามาเสริมระบบ ส่วนเชื้อเพลิงหลักนั้นยังคงเป็นก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีมาผลิตไฟฟ้า ที่จะเปิดให้รายใหม่เข้ามาแข่งขัน นอกเหนือจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้นตามมา เนื่องจากมีราคาผันผวนและสูงกว่าก๊าซในอ่าวไทย
ด้าน นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า การจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) ฉบับใหม่ หรือ PDP2018 ที่จะสิ้นสุดในปี 2580 คาดการณ์ว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปลายปีนี้นั้น เบื้องต้นประมาณการความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) 61,965 เมกะวัตต์ (MW) จากปี 60 ที่อยู่ระดับ 34,102 เมกะวัตต์ ซึ่งในส่วนนี้จะรวมความต้องการใช้ไฟฟ้าจากในส่วนของกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าแบบผลิตเองใช้เอง (Isolated Power Supply :IPS) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กที่ขายไฟฟ้าตรงโดยไม่ผ่านระบบ (SPP direct) ซึ่งในปี 60 อยู่ที่ระดับ 3,800 เมกะวัตต์ และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็นราว 8,000 เมกะวัตต์ ในปี 2580 ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่เติบโต
โดยปัจจุบันประเทศไทยยังมีปริมาณไฟฟ้าสำรองอยู่ในระดับสูงราว 25% ซึ่งจะเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าไปจนถึงปี 2567-2568 แต่หลังจากนั้นจำเป็นจะต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่เข้ามาเพิ่ม ดังนั้น แผนพีดีพีฉบับใหม่จึงได้จัดทำแผนแบ่งเป็น 6 ภูมิภาค 1 พื้นที่ แบ่งเป็น ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคใต้ และพื้นที่กรุงเทพ เพื่อให้เกิดการลงทุนและเพิ่มความมั่นคงเป็นรายภาคให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และยังจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงกระจายอยู่ในทุกภาคด้วย
ทั้งนี้ ตามแผนการจัดหากำลังผลิตไฟฟ้าจะมีรูปแบบผสมผสาน โดยยังคงต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงหลัก ซึ่งจะมาจากกำลังการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการผลิตไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) รวมถึงจะมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด (renewable) ราว 30% ในระดับเดิม รวมถึงการจัดทำแผนจะแยกเป็นรายภาค เพื่อให้เกิดการลงทุนและเพิ่มความมั่นคงเป็นรายภาค ตลอดจนจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในปี 2580
อนึ่งจากกรณีที่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) ฉบับใหม่ อาจจะมีการเพิ่มปริมาณไฟฟ้าเป็นราว 8,000 เมกะวัตต์ ในปี 2580 “ผู้สื่อข่าว” คาดว่าจะส่งผลดีต่อกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กที่ขายไฟฟ้าตรงที่ขายไฟฟ้าให้กับกฟผ. อาทิ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ,บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ,บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM , บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW ,บริษัท โรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EPCO ,บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP เนื่องจากผู้ผลิตไฟฟ้ามีโอกาสที่จะได้รับงานขายไฟฟ้าให้กับกฟผ.เพิ่มสูงขึ้น
ขณะเดียวกันกลุ่มผ้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีจะเป็นอีกกลุ่มที่มีโอกาสได้รับงานเพิ่มจากการนำเข้าแอลเอ็นจีที่เพิ่มขึ้น อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ,บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF และบริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SGP