GULF เตรียมกู้เงิน 4 หมื่นลบ. ลงทุนโรงไฟฟ้า IPP กำลังผลิต 2,500 MW
GULF เตรียมกู้เงิน 4 หมื่นลบ. ลงทุนโรงไฟฟ้า IPP กำลังผลิต 2,500 MW
นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ขนาดกำลังผลิตตามสัญญา 2,500 เมกะวัตต์ (MW) ของบริษัท กัลฟ์ เอสอาร์ซี จำกัด (GSRC) ที่ตั้งอยู่ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เตรียมเซ็นสัญญากู้เงินราว 4 หมื่นล้านบาท จากสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศภายในพ.ย.นี้ โดยจะเป็นการกู้เงินสกุลบาทและดอลลาร์สหรัฐในสัดส่วน 50:50 เพื่อรองรับการลงทุนโครงการที่จะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 64-65
ส่วนโครงการ IPP ขนาดกำลังการผลิตตามสัญญา 2,500 เมกะวัตต์ อีก 1 โครงการที่ดำเนินการโดยบริษัท กัลฟ์ พีดี จำกัด (GPD) ตั้งอยู่ที่ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง คาดว่าจะจัดหาเงินกู้ได้ในช่วงปี 63 หลังโครงการมีกำหนด COD ในปี 66-67
“โครงการที่ศรีราชาเราต้องเริ่มสร้างสิ้นปีนี้ต้องเบิกเงินกู้ในเดือนธันวาฯ โครงการใช้เวลาก่อสร้างเกือบ 3 ปี ก็ต้องเริ่มโครงการนี้ก่อน ส่วน IPP อีกโครงการยังมีช่วงเวลาในการจัดหาแหล่งเงินกู้” นางสาวยุพาพิน กล่าว
นางสาวยุพาพิน กล่าวเพิ่มว่า โครงการ IPP ทั้ง 2 โรงดังกล่าวเป็นความร่วมทุนระหว่าง GULF และ Mitsui ภายใต้สัญญาผู้ถือหุ้นสัดส่วน 70% และ 30% ตามลำดับ โดยเชื่อว่าโครงการ IPP จะสร้างผลตอบแทนให้บริษัทได้ดีมาก เนื่องจากมีต้นทุนการดำเนินการต่ำ คิดเป็นต้นทุนการลงทุนราว 7 แสนเหรียญสหรัฐ/เมกะวัตต์
โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่บริษัทได้สั่งซื้อเครื่องกังหันก๊าซ (Gas Turbine) พร้อมกันทั้ง 8 เครื่อง รองรับการดำเนินโครงการ IPP ทั้ง 2 โรง ทำให้ได้ราคาถูก ซึ่งจะผลักดันให้โครงการมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) มากถึงระดับ 25-28%
ทั้งนี้ ตามแผนการดำเนินงานบริษัทจะมุ่งการดำเนินงานสำหรับโครงการในมือที่มีอยู่ โดยเฉพาะในปีหน้าที่จะมีโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) จะทยอย COD อีก 4 โครงการ, การลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้า IPP ที่ศรีราชา, การลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในเวียดนาม, การลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในโอมาน
รวมถึงยังมองหาโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศเพิ่มเติม ทั้งในส่วนของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก และพลังงานทดแทน เบื้องต้นประเมินว่าในช่วงปี 62-63 มีความต้องการใช้เงินประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทก็ยังมีศักยภาพในการหาแหล่งเงินกู้อยู่มาก เนื่องจากปัจจุบันมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ในระดับต่ำ ที่ 1.6 เท่า
นอกจากนี้ บริษัทมีแผนจะออกหุ้นกู้ในวงเงินไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท อายุไม่เกิน 10 ปี หากได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 27 พ.ย.นี้ เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถออกและเสนอขายในช่วงไตรมาส 1/62 เพื่อรองรับการชำระคืนหุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดในเดือน ก.ย.62 วงเงิน 6 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือใช้รองรับการลงทุน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท
อย่างไรก็ตาม หลังจากการกู้เงินสำหรับโครงการ IPP ในเดือนพ.ย. นี้และการออกหุ้นกู้ในช่วงไตรมาสแรกปีหน้า จะทำให้สัดส่วน D/E เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึง 2.5 เท่า ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ คือ ไม่เกินระดับ 3.1 เท่า