ก.ล.ต.ฟันฉับ “มิทซึจิ” ฐานพ่นข้อมูลเท็จ! จับตาซีอีโอ GL หลัง “พี่ชาย” โดนเชือดอีกกระทง!?
ก.ล.ต.ฟันฉับ "มิทซึจิ" ฐานพ่นข้อมูลเท็จ! จับตาซีอีโอ GL หลัง "พี่ชาย" โดนเชือดอีกกระทง!?
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ (30 ต.ค.2561) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษอดีตผู้บริหาร บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL นายมิทซึจิ โคโนชิตะ (พี่ชายนายทัตซึยะ โคโนชิตะ ซีอีโอของ GL คนปัจจุบัน) ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป กรณีบอกกล่าว เผยแพร่ หรือให้คำรับรองข้อความอันอาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับ GL
โดย ก.ล.ต. ตรวจสอบพบว่า นายมิทซึจิ โคโนชิตะ ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ GL และกลุ่มบริษัทในเครือของ GL ได้ให้ข่าวเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2560 ว่าไม่เคยขึ้นศาลหรือถูก ก.ล.ต. ญี่ปุ่นฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายใด ๆ และเรื่องจบไปนานแล้ว ทั้งที่รู้ว่าเรื่องดังกล่าวยังอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดี
ดังนั้น การให้ข่าวของนายมิทซึจิข้างต้น เป็นการให้ข่าวไม่ครบถ้วนตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จึงเป็นการบอกกล่าว เผยแพร่ หรือให้คำรับรองข้อความอันอาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับ GL ที่น่าจะมีผลกระทบต่อราคาหุ้น GL หรือต่อการตัดสินใจลงทุนในหุ้น GL เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 240 และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 วรรคสอง และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 ก.ล.ต จึงกล่าวโทษนายมิทซึจิต่อ DSI เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
โดยการกล่าวโทษโดย ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจสอบสวนของ DSI การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจในการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมตามลำดับ
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2560 “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้รายงานข่าวเกี่ยวกับประเด็นการให้สัมภาษณ์ในของนายมิทซึจิ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2560 ซึ่งเป็นการแถลงข่าวชี้แจงเกี่ยวกับการถูกหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินและตลาดทุนต่างประเทศฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย โดยระบุว่า “ตนไม่เคยถูกดำเนินการทางกฎหมายโดยหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินและตลาดทุนต่างประเทศ” ทั้งที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของประเทศญี่ปุ่น หรือ SESC มีคำเสนอแนะให้พิจารณาออกคำสั่งปรับตามการกล่าวโทษ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 หรือกว่า 3 ปีก่อนหน้าการให้ข่าวดังกล่าว ตามรายงานในข่าว จับตา ”มิทซึจิ” เข้าข่ายให้ข้อมูลเท็จ หลังลั่นไม่เคยถูกกล่าวโทษ (คลิป)
โดย นายมิทซึจิ โคโนชิตะ ได้พ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 2560 หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษต่อ DSI กรณีทุจริตทำธุรกรรมอำพรางเพื่อให้ผลประกอบการสูงเกินความจริง
อนึ่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ มาตรา ๒๙๖๕ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๔๐ มาตรา ๒๔๑ มาตรา ๒๔๒ มาตรา ๒๔๔/๑ มาตรา ๒๔๔/๒ หรือมาตรา ๒๔๔/๓ (๑) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับในกรณีที่ผู้ฝ่าฝืนมาตรา ๒๔๐ หรือมาตรา ๒๔๑ เป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใด ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนมาตรา ๒๙๖/๒๕ กรณีความผิดตามมาตรา ๒๙๖ หรือมาตรา ๒๙๖/๑ ในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดโทษปรับ ถ้าผู้กระทำความผิดได้รับหรือพึงได้รับผลประโยชน์จากการกระทำความผิดนั้นให้ปรับเป็นเงินไม่เกินสองเท่าของผลประโยชน์ ทั้งนี้ ค่าปรับดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าค่าปรับขั้นต่ำที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๙๖ หรือมาตรา ๒๙๖/๑ แล้วแต่กรณี