ก.ล.ต.เปิดเฮียริ่งแก้ไขพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เน้นเพิ่มประสิทธิภาพ-ความโปร่งใส
ก.ล.ต.เปิดเฮียริ่งแก้ไขพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ถึง 7 ธ.ค.นี้ เน้นเพิ่มประสิทธิภาพ-ความโปร่งใส
สืบเนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ชุดยกระดับการกำกับดูแลตลาดทุนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งต่อมาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.)ได้มีการปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ก.ล.ต. จึงขอเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในการเสนอร่างกฎหมายต่อไป โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1) การกำกับดูแลธุรกิจหลักทรัพย์ โดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจกำหนดให้การประกอบกิจการในลักษณะใดลักษณะหนึ่งไม่เป็นธุรกิจหลักทรัพย์ และกำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์ได้รับยกเว้นการปฏิบัติหรือปฏิบัติแตกต่างจากเกณฑ์ที่กำหนดได้ รวมทั้งมีดุลพินิจในการกำหนดทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทหลักทรัพย์ ทั้งนี้ เพื่อให้มีความยืดหยุ่น รองรับการให้บริการรูปแบบใหม่ ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่งเสริมพัฒนาการและการแข่งขัน
2) การจัดการกองทุนรวม กำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์ที่จัดการกองทุนรวม (บลจ.) มีหน้าที่จัดการกองทุนรวมด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน โดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ และต้องจัดให้มีนโยบายป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ดูแลการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรืออาจทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียประโยชน์ รวมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการขอมติของผู้ถือหน่วยลงทุน เพื่อให้ บลจ. ได้รับมติจากผู้ถือหน่วยลงทุนได้ง่ายขึ้น
3) การปรับปรุงการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยกำหนดภารกิจ และความคาดหวังในการดำเนินกิจการของตลาดหลักทรัพย์ และแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งวาระดำรงตำแหน่ง เพื่อให้การดำเนินกิจการของตลาดหลักทรัพย์มีความโปร่งใส ต่อเนื่อง ตลอดจนคำนึงถึงประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียในตลาดทุนอย่างทั่วถึง
4) การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดทุน โดยให้คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์มีอำนาจประกาศกำหนดให้บุคคลที่มิใช่บริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกสามารถซื้อหรือขายหลักทรัพย์จดทะเบียนประเภทใดประเภทหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ได้ และห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกซื้อหรือขายหลักทรัพย์จดทะเบียนนอกตลาดหลักทรัพย์ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากตลาดหลักทรัพย์ หรือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามประเภทที่ได้รับใบอนุญาต รวมทั้งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตศูนย์รับฝากหลักทรัพย์สามารถใช้ระบบ scripless ได้กับการรับฝากหลักทรัพย์ทุกประเภท
5) การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (กองทุน CMDF) โดยให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีลักษณะการดำเนินงานแบบเอกชน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน และมีคณะกรรมการ 9 คน ประกอบด้วย (1) ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ (2) รองเลขาธิการ ก.ล.ต (3) กรรมการกองทุนโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย รวมทั้งผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ (4) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 คน
6) แก้ไขเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความชัดเจน และความโปร่งใสในการดำเนินงานของ ก.ล.ต
อนึ่ง เรื่องการสั่งให้มีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน มีการปรับออกจากร่างพระราชบัญญัติ เนื่องจาก สคก. เห็นควรให้แก้ไขในกฎหมายอื่นที่เหมาะสมมากกว่า