PTTEP ผุดบริษัท“เอไอ แอนด์ โรโบติกส์”ลุยนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ให้บริการลูกค้าoil&gasเต็มสูบ

PTTEP ผุดบริษัท “เอไอ แอนด์ โรโบติกส์” ลุยนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ให้บริการลูกค้า oil&gas เต็มสูบ


นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมรุกธุรกิจใหม่เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งและยั่งยืน นอกเหนือจากธุรกิจผลิตและสำรวจปิโตรเลียม (E&P) ที่เป็นแกนหลักในปัจจุบัน

โดยล่าสุดได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้ร่วมกับภูมิปัญญาประดิษฐ์ เพื่อตอบโจทย์การดำเนินงานให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า เบื้องต้นเน้นให้บริการกับลูกค้าในกลุ่มธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (oil & gas) ปัจจุบันได้รับงานจากลูกค้าแล้วอย่างน้อย 1 ราย

ส่วนระยะต่อไปมองโอกาสการลงทุนต่อยอดจากแหล่งปิโตรเลียมไปสู่การผลิตไฟฟ้า (Gas to Power) เบื้องต้นอยู่ระหว่างหารือกับทางการเมียนมา เพิ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติ จากแหล่งซอติก้า เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าให้กับเมียนมาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในช่วงปี 66

“เราตั้งบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เพราะมาจากพื้นฐานที่เราพัฒนาสิ่งพวกนี้ใช้ในงานของเรา แต่เราคิดว่าถ้าเราแยกส่วนนี้ออกไปได้ น่าจะมีความคล่องตัวกว่า เพราะธุรกิจ E&P และธุรกิจเทคโนโลยีวิธีการบริหารอาจจะต่างกัน การที่มีบริษัทนี้แทนที่จะให้บริการแค่ตัวเรา เราก็พร้อมที่จะให้บริการแก่บริษัทในเครือหรือบริษัทต่างชาติที่ต้องการบริการสิ่งที่เรามีอยู่ คิดว่าน่าจะเอื้อในการพัฒนาให้เทคโนโลยีมีความก้าวหน้า เราก็มีแผนที่จะตั้งบริษัทในพื้นที่ EECi ที่วังจันทร์วัลเล่ย์ ระยอง จะช่วยเสริมกับภาครัฐด้วย เพราะแถวๆ นั้นน่าจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีในเชิง AI ในเชิง Robotic อยู่” นายพงศธร กล่าว

นายพงศธร กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน ปตท.สผ.มีการพัฒนาโดรนเพื่อใช้ในงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการตรวจสอบสภาพท่อก๊าซฯ, ตรวจสอบปล่องแฟร์ในแท่นผลิตปิโตรเลียม ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินที่จำเป็นต้องปล่อยก๊าซฯ หรือน้ำมันที่มีความดันสูงไปเผาทิ้ง ในอนาคตจะนำมาใช้ตรวจสอบท่อบนบกได้เพื่อป้องกันการรั่วไหล และกำลังพัฒนาที่จะส่งหุ่นยนต์ลงไปซ่อมท่อที่รั่ว ซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนกิจกรรมของ ปตท.สผ.ในเชิงลดต้นทุน และยังช่วยลดความเสี่ยงการทำงานของบุคลากรด้วย โดยปัจจุบันมีลูกค้าเข้ามาบ้างแล้ว

สำหรับการต่อยอดจากแหล่งปิโตรเลียมสู่การผลิตไฟฟ้านั้น มองพื้นที่ในเมียนมาที่ปัจจุบันรัฐบาลเมียนมามีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศให้มากขึ้น ทำให้มองว่าในช่วงปี 66 น่าจะมีโอกาสสำหรับ ปตท.สผ. จึงได้นำเสนอแผนที่จะสำรวจและเพิ่มศักยภาพการผลิตปิโตรเลียม และพร้อมที่จะต่อท่อก๊าซฯจากแหล่งผลิตเพื่อป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าที่จะมีขึ้นในอนาคต โดยการดำเนินการจะเป็นการร่วมกันดำเนินงานในกลุ่ม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ (PTT)

ทั้งนี้ ตามแผนเบื้องต้นต้องการที่จะพัฒนาก๊าซธรรมชาติในแหล่งซอติก้าเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน โดยในส่วนนี้จัดส่งให้กับเมียนมา 60 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และไทย 240 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน โดยหากสามารถส่งก๊าซฯให้กับเมียนมาเพิ่มขึ้น ก็พร้อมที่จะหาแนวทางลงทุนและวางท่อส่งก๊าซฯไปยังภาคตะวันตกของย่างกุ้ง ก็จะช่วยการพัฒนาของโครงการ M3 ของ ปตท.สผ.ด้วย ขณะที่ในพื้นที่ดังกล่าวยังขาดซัพพลายของโรงไฟฟ้าอยู่ ทาง ปตท.สผ.ก็ได้เสนอเป็นแพ็กเกจลงทุนเข้าไป คาดว่าภายในต้นปีหน้าน่าจะเห็นความชัดเจนมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ทาง ปตท.มีแผนนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เข้ามาแล้วแปลงสภาพเป็นก๊าซฯ (Regas Unit) ในเมียนมา ซึ่งเป็นศูนย์รวมการรับก๊าซฯจากอ่าวเมาะตะมะ เพื่อนำก๊าซฯ มาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า แต่หากเมียนมามีแผนจะเพิ่มการผลิตไฟฟ้าก็จะทำให้ปตท.สผ.มีโอกาสที่จะเข้าไปร่วมในส่วนนั้น

สำหรับความคืบหน้าการกลับเข้าไปลงทุนใหม่ในอินโดนีเซีย หลังจากที่ได้ระงับการลงทุนใหม่ไปก่อนหน้านี้จากคดีน้ำมันรั่วไหลจากแหล่งมอนทาราน แม้ขณะนี้ทางรัฐบาลอินโดนีเซียได้ถอนฟ้องไปแล้ว แต่ก็ยังมีประเด็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาร่วมกันอยู่โดยทาง ปตท.สผ.จะต้องพิสูจน์ให้มีความชัดเจนว่าการดำเนินการไม่ขัดหรือทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องหาคนกลางเข้ามาเป็นผู้ตัดสิน คาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปีจากนี้จึงจะมีความชัดเจน

“เราอยากจะลงทุนในอินโดนีเซียเช่นกัน เพราะเป็นประเทศที่มีศักยภาพ ช่วงนี้เป็นช่วงที่ทั่วโลกอยู่ในห้วงเวลาคล้าย ๆ กัน ที่สัมปทานหลายแห่งจะหมดอายุที่อินโดนีเซียก็เช่นกันก็จะมีแหล่งที่หมดอายุสัมปทาน เราก็เห็นโอกาสที่จะเข้าไปร่วมแข่งขันด้วย” นายพงศธร กล่าว

นายพงศธร กล่าวต่อว่า ขณะนี้ ปตท.สผ.ได้วางวิสัยทัศน์ใหม่ภายใต้ “ENERGY PARTNER OF CHOICE” ด้วยความสามารถในการแข่งขันและนวัตกรรมเพื่อการสร้างคุณค่าในระยะยาว โดยจะมีความเกี่ยวโยงกับผู้ที่มีส่วนได้เสียกับ ปตท.สผ.ได้แก่ ผู้ถือหุ้น ซึ่งจะเป็นผู้เลือก ปตท.สผ.ในการลงทุน เพราะเป็นผู้สามารถสร้างความมั่นคงและผลตอบแทนที่เหมาะสม รวมถึงสร้างคุณค่าในระยะยาว, พนักงาน ปตท.สผ.ก็เป็นองค์กรที่อยากมีผู้เข้ามาร่วมงาน

ทั้งนี้ เพราะเป็นองค์กรที่จะส่งเสริมและช่วยพัฒนาศักยภาพของพนักงานและให้ผลตอบแทนที่เหมาะสม, ชุมชน ซึ่งมีความต้องการ ปตท.สผ.เพราะเป็นผู้ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น, คู่แข่ง ก็คาดหวังจะเปลี่ยนมาเป็นผู้ร่วมทุน หรือคู่ค้ากับปตท.สผ. เพราะทำให้มั่นใจว่ามีการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม และสุดท้าย คือรัฐบาลในแต่ละประเทศ ที่ต้องการให้ปตท.สผ.เข้าไปร่วมลงทุน เพราะมีการพัฒนา ดูแล สังคม ชุมชนให้กับประเทศนั้นๆ ด้วย

Back to top button