ก.ล.ต.ย้ำหัวหมุด SISB เข้าตลาดหุ้นถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทุกประการ!
ก.ล.ต.ย้ำหัวหมุด SISB เข้าตลาดหุ้นถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทุกประการ!
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ชี้แจงกรณีที่มีผู้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้มีการระงับการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของ บริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) หรือ SISB ว่า ก.ล.ต.พร้อมให้ข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลว่าก่อนการพิจารณาอนุญาตให้ SISB เสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO)
ก.ล.ต.ได้มีการหารือและส่งหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลและกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาของโรงเรียนเอกชน (lead regulator) แล้วว่า SISB สามารถดำเนินการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ได้หรือไม่ และในวันที่ 24 ต.ค.61 สช.มีหนังสือตอบกลับมาว่าตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ไม่มีข้อห้ามหรือข้อจำกัดในการดำเนินการดังกล่าว อีกทั้งในการหารือ สช.ก็มิได้เคยปรากฏว่า สช.มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการที่ SISB จะออกและเสนอขายหลักทรัพย์แต่อย่างใด
ดังนั้น เมื่อ ก.ล.ต.ได้พิจารณาคุณสมบัติและพิจารณาการเปิดเผยข้อมูลของ SISB ตามกฎเกณฑ์ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ แล้ว พบว่า SISB มีคุณสมบัติตามที่กำหนด จึงไม่มีเหตุที่ ก.ล.ต.จะปฏิเสธคำขอของ SISB ได้ ก.ล.ต.จึงได้มีคำสั่งอนุญาตไปเมื่อวันที่ 16 พ.ย.61 และต่อมา SISB ได้เสนอขายหลักทรัพย์เสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 26 พ.ย.61 และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เมื่อวันที่ 29 พ.ย.61
ทั้งนี้ แนวทางในการพิจารณา IPO ของ ก.ล.ต.จะพิจารณาคุณสมบัติของผู้ขอระดมทุนตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งเน้นความโปร่งใสและดูแลให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่เพียงพอต่อผู้ลงทุน ซึ่งในกรณีที่มีข้อสังเกตว่าสถาบันการศึกษาไม่ควรมุ่งหวังผลกำไรเป็นหลักนั้น ก.ล.ต. ได้มีการสอบถามประเด็นดังกล่าว ซึ่ง SISB ได้ชี้แจงและเปิดเผยในหนังสือชี้ชวนว่า SISB มีวัตถุประสงค์หลักที่ต้องการพัฒนาการศึกษาและยกระดับมาตรฐานการศึกษาในประเทศไทยให้ทัดเทียมกับระดับสากล โดยไม่ได้มุ่งแสวงหาผลกำไรสูงสุด
และมีการระบุถึงบทบัญญัติของ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ซึ่งกำหนดอำนาจของ สช.ว่าในกรณีที่เห็นว่าค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นที่โรงเรียนกำหนดมีลักษณะเป็นการแสวงหากำไรเกินควร หรือเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร สช. มีอำนาจสั่งให้ลดลงตามที่เห็นสมควรได้