“ฐากร” แถลงแผนกสทช.ปี 62 เร่งผลักดัน 5 เป้าหมาย มุ่งแก้ปมทีวีดิจิทัล พร้อมลุย 5G เต็มสูบ!

"ฐากร" แถลงแผนกสทช.ปี 62 เร่งผลักดัน 5 เป้าหมาย มุ่งแก้ปมทีวีดิจิทัล พร้อมลุย 5G เต็มสูบ!


นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช.ประกาศทิศทางและนโยบายการดำเนินงานปี 62 เมื่อวันที่ 30 พ.ย.- 1 ธ.ค.61 ได้มอบหมายนโยบายการดำเนินงานให้กับผู้บริหารสำนักงาน กสทช. พร้อมผลักดัน 5 เป้าหมายให้เกิดขึ้นจริง ได้แก่

1.สนับสนุนนโยบายเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 5G เร็วที่สุด โดยจะดำเนินการทบทวนการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ (Set Zero โทรคมนาคม) ที่สะท้อนความต้องกาคลื่นความถี่ที่สมเหตุสมผล เหมาะสมกับบริบทอุตสาหกรรมและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล

รวมทั้งทบทวนเงื่อนไขและระยะเวลาการชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ (Term of payment) ของคลื่นที่ประมูลไปแล้ว และที่จะนำมาประมูลใหม่ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุนสำหรับภาคเอกชนในการพัฒนาระบบโครงข่ายและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

ขณะเดียวกันจะดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ที่จะใช้งานคลื่นความถี่ 5G ใหม่เพิ่มเติมให้เหมาะสมกับรูปแบบการประกอบธุรกิจในยุค 5G โดยแบ่งวิธีการอนุญาตเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ ใบอนุญาตที่ใช้งานครอบคลุมการให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ (Nation Wide) และใบอนุญาตที่ครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ที่กำหนด (Specific Area) เช่นในเขตพื้นที่ภาคการผลิตและอุตสาหกรรม เพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบการประกอบธุรกิจในยุค 5G

ทั้งนี้ กำหนดหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่หลายย่านพร้อมกัน (Mulitband) ในการต่อยอดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกกะเฮิรตซ์ (MHz) , 2.6 กิ๊กกะเฮิร์ตซ์ (GHz), 3.5 GHz, 28 GHz และดำเนินการจัดตั้งศูนย์ทดลอง ทดสอบ 5G ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนในการที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีดังกล่าว

รวมถึงการเรียกคืนคลื่นความถี่ ตามประกาศซึ่งได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 พ.ย.61 สำนักงาน กสทช.จะดำเนินการตามประกาศดังกล่าวฯ และจะตั้งคณะทำงานดำเนินการตามประกาศดังกล่าวตั้งแต่เดือน ธ.ค.61 โดยมีเป้าหมายในการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2.6 GHz เป็นลำดับแรก

2.แก้ไขปัญหาทีวีดิจิทัลในระยะยาว โดยการปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz โดยจะเยียวกับผู้ได้รับผลกระทบ โดยเยียวยากลับคืนทั้งผู้ให้บริการทีวีดิจทัลและผู้ให้บริการโครงข่าย (MUX) ทั้งนี้การประมูลจะมีการประมูลล่วงหน้าก่อนที่จะสิ้นสุดระยะเวลาในใบอนุญาต,สนับสนุนแนวทางแก้ปัญหาที่ขึ้นจากประกาศมัสแครี่ (Must Carry) โดยเฉพาะภาระที่เกิดจากมัสแครี่

โดยสำนักงานฯ เห็นว่าควรให้มีการสนับสนุนการออกอากาศไปจนถึงปี 65 , สนับสนุนค่าใช่จ่ายในการออกอากาศผ่านโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดิน โดยจะสนับสนุนผู้ประกอบการไปจนถึงปี 65 และสนับสนุนการสำรวจความนิยม (Rating)  โดยสนับสนุนการประเมินเรทติ้งใหม่เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการสำรวจความนิยม

3.จัดทำแผนและหลักเกณฑ์การอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมเพื่อรองรับมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ. ศ. 2560 ที่บัญญัติไว้ว่า ” รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน” ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการแก้ไขพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯพ. ศ. …. ที่จะกำหนดให้กสทช. เป็นผู้มีอำนาจในการกำกับดูแลเกี่ยวกับวงโคจรดาวเทียมทั้งหมด

4.เร่งรัดและร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือสตช. ในการนำเลขหมายโทรศัพท์ 191 มาใช้เป็นเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติหมายเลขเดียว (National Single Emergency Number) ซึ่งในกรณีที่เกิดเหตุขึ้นเจ้าหน้าที่จะสามารถทราบตำแหน่งที่ตั้งและสถานการณ์ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีการบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งเชื่อมต่อกับกล้อง CCTV ที่ติดตั้งอยู่ทั่วประเทศทำให้สามารถระงับและจัดการกับเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพรวดเร็วและทันเหตุการณ์ลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5.เร่งรัดสนับสนุนและร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐอาทิสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรืออย. สำนักงานตำรวจแห่งชาติกรมทรัพย์สินทางปัญญากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือกระทรวงดีอีในการดำเนินการระงับการเผยแพร่เนื้อหาบนสื่อออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย

Back to top button