สรุปภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศ
สรุปภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศประจำวันที่ 14 ธ.ค. 2561
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงอย่างหนักเกือบ 500 จุดเมื่อวันศุกร์ (14 ธ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนมีความวิตกเกี่ยวกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน ยุโรป และสหรัฐ โดยการที่จีนประกาศลดการเรียกเก็บภาษีต่อรถยนต์นำเข้าของสหรัฐนั้น ไม่ได้ช่วยหนุนการซื้อขายเมื่อคืนนี้
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,100.51 จุด ลดลง 496.87 จุด หรือ -2.02% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,599.95 จุด ลดลง 50.59 จุด หรือ -1.91% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6910.67 จุด ลดลง 159.66 จุด หรือ -2.26%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบเมื่อวันศุกร์ (14 ธ.ค.) นำโดยหุ้นกลุ่มธนาคารและเหมืองแร่ เนื่องจากนักลงทุนได้กลับมามีความวิตกเกี่ยวกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง หลังจีนและยูโรโซนเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่ซบเซา
ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 2.21 จุด หรือ 0.63% ปิดที่ 347.21 จุด
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 10,865.77 จุด ลดลง 58.93 จุด หรือ -0.54% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,845.17 จุด ลดลง 32.33 จุด หรือ -0.47% และดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,853.70 จุด ลดลง 43.21 จุด หรือ -0.88%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดตลาดในแดนลบเมื่อวันศุกร์ (14 ธ.ค.) ตามทิศทางตลาดหุ้นยุโรป เนื่องจากนักลงทุนได้กลับมามีความวิตกเกี่ยวกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง หลังจีนและยูโรโซนเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่ซบเซา นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ก็เป็นปัจจัยกดดันตลาดเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นลอนดอนยังพอได้รับปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าของเงินปอนด์ โดยการอ่อนค่าของเงินปอนด์เป็นปัจจัยบวกต่อดัชนี FTSE 100 ซึ่งมีบริษัทที่ทำธุรกิจในต่างแดนรวมอยู่ในดัชนีนี้เป็นจำนวนมาก เมื่อเงินปอนด์อ่อนค่าลงแล้วเท่ากับว่า บริษัทเหล่านี้จะมีกำไรเพิ่มขึ้นเมื่อนำรายได้กลับเข้าประเทศ
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,845.17 จุด ลดลง 32.33 จุด หรือ -0.47%
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อวันศุกร์ (14 ธ.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากสกุลเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ก่อนการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 6.00 ดอลลาร์ หรือ 0.48% ปิดที่ 1241.40 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 21.8 เซนต์ หรือ 1.47% ปิดที่ 14.637 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 12.2 ดอลลาร์ หรือ 1.53% ปิดที่ 785.30 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 19.10 ดอลลาร์ หรือ 1.6% ปิดที่ 1,171.60 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดในแดนลบเมื่อวันศุกร์ (14 ธ.ค.) หลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอของจีน ซึ่งสร้างความวิตกเกี่ยวกับความต้องการใช้น้ำมันของจีน
นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐยังเป็นปัจจัยกดดันการซื้อขายด้วย เพราะเมื่อดอลลาร์แข็งค่า ราคาสัญญาน้ำมันดิบที่ซื้อขายด้วยเงินดอลลาร์จะมีราคาสูงขึ้นและน่าดึงดูดใจลดลงสำหรับผู้ถือเงินสกุลอื่น ๆ
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 1.38 ดอลลาร์ หรือ 2.6% ปิดที่ 51.2 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 1.17 ดอลลาร์ หรือ 1.9% ปิดที่ 60.28 ดอลลาร์/บาร์เรล
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (14 ธ.ค.) ขณะที่นักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์หน้า
ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของยูโรและปอนด์ จากความวิตกเกี่ยวกับการขยายตัวของยูโรโซน และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)
นอกจากนี้ นักลงทุนยังเข้าซื้อเงินดอลลาร์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เนื่องจากนักลงทุนได้กลับมามีความวิตกเกี่ยวกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอีกครั้ง หลังจีนได้เปิดเผยตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และยอดค้าปลีกที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ท่ามกลางการทำสงครามการค้ากับสหรัฐ
ยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1303 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1366 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.2579 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2660 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7178 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7227 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 113.29 เยน จากระดับ 113.60 เยน แต่แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9977 ฟรังก์ จากระดับ 0.9933 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3374 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3355 ดอลลาร์แคนาดา