TPIPP ฟุ้งผลงานปี 62 โต! หลัง COD รฟฟ.”TG8″ 150MW-รับรู้รายได้”TG6-TG7″เต็มปี
TPIPP ฟุ้งผลงานปี 62 โตหลัง COD โรงไฟฟ้า "TG8" 150MW-รับรู้รายได้ "TG6-TG7" เต็มปี
นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าผลประกอบการปี 62 จะเติบโตจากปีนี้ จากแผนจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ของโรงไฟฟ้าถ่านหิน (TG8) ขนาดกำลังการผลิต 150 เมกะวัตต์ ซึ่งจะส่งผลให้กำลังการผลิตติดตั้งรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 440 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 290 เมกะวัตต์
พร้อมกันนี้เตรียมรับรู้รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าได้เต็มปีของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากขยะ (TG6) ขนาดกำลังการผลิต 70 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหิน RDF (TG7) ขนาดกำลังการผลิต 70 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อยู่ระหว่างการออกใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน TG8 หลังจากมีการทำประชาพิจารณ์ไปแล้ว โดยบริษัทคาดว่ากระบวนการต่าง ๆ จะแล้วเสร็จและเริ่มการจำหน่ายไฟฟ้าได้ไม่เกินช่วงกลางเดือน ม.ค.62
ขณะเดียวกันบริษัทตั้งเป้า Utilization rate ของโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องอยู่ไว้ที่ระดับ 100% โดยในช่วงที่ผ่านมามีการดำเนินการให้อยู่ในระดับสูงสุดเท่าที่เป็นไปได้และรักษาระดับให้ไม่ต่ำกว่า 90% จากเดิมที่ 70% โดยบริษัทมีการลงทุนติดตั้งหม้อผลิตไอน้ำ (Boiler) เพิ่มเพื่อให้สามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพการผลิตสูงสุด
พร้อมกันนี้ บริษัทเตรียมยื่นประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะในโครงการหนองแขม ขนาดกำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ และโครงการอ่อนนุช ขนาดกำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้มีการซื้อซองประมูลเพื่อรับทราบข้อกำหนดของผู้ว่าจ้างแล้ว (TOR) ซึ่งหากบริษัทชนะการประมูล คาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ในปี 64
อย่างไรก็ดี หากบริษัทชนะการประมูลโครงการหนองแขมและโครงการอ่อนนุช คาดว่าจะต้องมีการกู้เงินจากสถาบันการเงินเพิ่มเติม ซึ่งจะมีการพิจารณาสัดส่วนการใช้เงินลงทุนที่เหมาะสมอีกครั้ง จากที่ผ่านมามีการขอเงินกู้ในรูปแบบโปรเจ็คไฟแนนซ์ไว้ ขณะที่สัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ของบริษัทอยู่ในระดับ 1:1 เท่า และมีการขออนุมัติวงเงินจากหุ้นกู้จากที่ประชุมผู้ถือหุ้นเตรียมไว้แล้ว 4 พันล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทมองว่ามีโอกาสหาพันธมิตรเข้าร่วมประมูลทั้งสองโครงการด้วย โดยบริษัทเปิดกว้างรูปแบบความร่วมมือกับทั้งพันธมิตรทุกรูปแบบทั้งที่มีเงินทุนและมีเทคโนโลยี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนราว 10 ราย คาดว่าจะสามารถสรุปรูปแบบการเข้าประมูลได้ก่อนเปิดซองประมูลในวันที่ 21 ม.ค.62
ขณะที่ บริษัทยังมีแผนการเข้าประมูลโครงการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยจะเข้าซื้อซองประมูลทุกโครงการเพื่อนำมาศึกษาข้อตกลง TOR และประเมินความเสี่ยง-ผลตอบแทน จากปัจจุบันมีความสนใจในการเข้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่จังหวัดชลบุรี, นครราชสีมา และสงขลาเพิ่มเติม หากชนะประมูลอาจมีความเป็นไปได้ในการระดุมทุนผ่านการออกหุ้นกู้หลังจากเซ็นสัญญา PPA แล้ว หรือภายในช่วงครึ่งหลังของปี 62 เพื่อนำเงินมาก่อสร้างโรงไฟฟ้า หรืออาจมีการกู้สถาบันการเงินเพิ่มเติมด้วย