“หุ้นไทย” ปี 61 สูงสุดสู่สามัญทำพาเหรด IPO กระอัก!
ย้อนรอยข่าวดังปี 61 - "หุ้นไทย" ปี 61 สูงสุดสู่สามัญทำพาเหรด IPO กระอัก!
หากย้อนไปในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นไทยเดินหน้าทำจุดสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยขึ้นไปปิดที่ระดับ 1,838.96 จุด เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 61 ซึ่งนับเป็นสถิติสูงสุดตั้งแต่เปิดทำการซื้อขายมาตั้งแต่ปี 2518 จนมีนักวิเคราะห์หลายสำนักประเมินแนวโน้มดัชนีของปีนี้ ว่าจะวิ่งขึ้นไปแตะที่ระดับ 1,870–1,925 จุด แต่อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากนั้นไม่กี่เดือน หุ้นไทยกลับถูกปัจจัยรุมเร้าจากต่างประเทศเข้ามากดดันจนดัชนีเดินถอยหลังลงคลองตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
โดยจากการรวบรวมข้อมูลของ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” พบว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ตลาดหุ้นไทยได้เผชิญกับแรงกดดันหลากหลายปัจจัยในต่างประเทศ ซึ่งปัจจัยหลักมาจากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีน ที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลานานและยังไม่มีบทสรุป อีกทั้งยังมีประเด็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ที่เป็นตัวฉุดเงินทุนไหลออก ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นออกมาเป็นจำนวนมากนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา รวมถึงราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันเช่นกัน
ทั้งนี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทยซื้อขายวันสุดท้ายของปี 2561 ที่ระดับ 1,563.88 จุด นับเป็นการปรับตัวลดลงกว่า 189.83 จุด จากสิ้นปี 2560 ปิดที่ระดับ 1,753.71 จุด หรือคิดเป็นการปรับตัวลดลงมา 10.82% โดยส่วนใหญ่มาจากแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติ ที่ขายสุทธิตั้งแต่ต้นปีที่ระดับ 287,458.82 ล้านบาท จากปัจจัยการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในปีนี้ยังดูไม่สดใสนัก แต่นักวิเคราะห์ บล.บัวหลวง กลับประเมินแนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยในปี 2562 ว่าจะขึ้นไปทดสอบที่ระดับ 1,817 จุด อิง P/E ที่ 15.8 เท่า โดยประเมินกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เติบโต 7.2% ซึ่งกลุ่มที่จะมีกำไรเติบโตโดดเด่น ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ โรงไฟฟ้า และสินเชื่อส่วนบุคคล ขณะเดียวกันคาดว่าตลาดหุ้นไทยจะยังคงผันผวน เนื่องจากยังมีปัจจัยลบเกี่ยวกับสงครามการค้าที่ยังยืดเยื้อคอยกดดันอยู่
จากปัจจัยดังกล่าว นอกจากจะส่งผลเสียกับนักลงทุนแล้ว ยังส่งผลระทบกับหลักทรัพย์จดทะเบียนเข้าใหม่ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “หุ้น IPO” หลังพบว่าในช่วงครึ่งปีหลังที่ผ่านมา หุ้นน้องใหม่ ที่เข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ไม่สามารถปรับตัวขึ้นเหนือราคาจองได้ในวันเข้าเทรดวันแรกเหมือนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
โดย “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ “หุ้น IPO” ที่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เพื่อมานำเสนอให้กับนักลงทุน พบว่าในปี 2561 มีหุ้นน้องใหม่ที่เข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ทั้งสิ้น 18 บริษัท แบ่งเป็นเข้าซื้อขายในตลาดหลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จำนวน 7 หลักทรัพย์ และเข้าซื้อขายในตลาดเอ็ม เอ ไอ (mai) จำนวน 11 หลักทรัพย์
ทั้งนี้ จากตารางดังกล่าว พบว่า หุ้น IPO ทั้ง 18 หลักทรัพย์ มีเพียงแค่ 10 หลักทรัพย์ที่สามารถยืนเหนือราคาไอพีโอได้ในวันเข้าซื้อขายวันแรก ประกอบด้วย ABM, CMAN, DOD, TEAMG, MVP, TPLAS, KWM, OSP, BGC และ TIGER ซึ่งส่วนมากเข้าซื้อขายในช่วงต้นปี ด้านหลักทรัพย์ที่เข้าซื้อขายวันแรกในราคาเสมอจอง มีจำนวน 2 หลักทรัพย์ ประกอบด้วย CHAYO และ PR9
ขณะที่หลักทรัพย์ที่เข้าซื้อขายวันแรกและมีราคาต่ำกว่าไอพีโอ มีจำนวน 6 หลักทรัพย์ ประกอบด้วย SONIC, NER, CMC, SISB, STI และ TQM ซึ่งเป็นหลักทรัพย์ที่เข้าซื้อขายในช่วงปลายปีทั้งหมด
สำหรับหลักทรัพย์ที่เข้าทำการซื้อขายวันแรก โดยมีราคาต่ำกว่า IPO มากสุดคือ บริษัท เจ้าพระยามหานคร จำกัด (มหาชน) หรือ CMC ที่ปิดการซื้อขายที่ราคา 2.36 บาท ลดลง 21.33% จากราคาไอพีโอ 3 บาท
ส่วนหลักทรัพย์ที่เข้าทำการซื้อขายวันแรกมีราคาปรับตัวขึ้นสูงสุด คือ บริษัท เอ็ม วิชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MVP ปิดการซื้อขายวันแรกที่ 3.26 บาท เพิ่มขึ้น 71.58% จากราคาไอพีโอ 1.90 บาท
ขณะที่หลักทรัพย์ที่มีราคาปิดการซื้อขายวันแรกด้วยราคาเหนือไอพีโอ และปัจจุบันยังคงปรับตัวสูงสุดในบรรดาหุ้น IPO คือ บริษัท ดีโอดี ไบโอเทค จำกัด (มหาชน) หรือ DOD โดยปิดการซื้อขายวันแรกที่ 14.70 บาท เพิ่มขึ้น 58.06% และปัจจุบันราคาหุ้นอยู่ที่ 13.60 บาท ซึ่งคิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น 46.24% จากราคาไอพีโอ 9.30 บาท
ส่วนหลักทรัพย์ที่มีราคาปรับตัวลดลงมากสุดตั้งแต่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์คือ บริษัท เอเชีย ไบโอแมส จำกัด (มหาชน) หรือ ABM โดยล่าสุดราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 0.90 บาท ลดลง 50% เมื่อเทียบกับราคาไอพีโอ 1.80 บาท
อนึ่งก่อนหน้านี้ นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้มีการคาดการณ์ว่า ในปีนี้จะมีบริษัทที่เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ไม่ต่ำกว่า 30 บริษัท
แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าในปีนี้มีบริษัทจดทะเบียนเข้าทำการซื้อขายในตลาดฯ เพียงแค่ 18 บริษัทเท่านั้น เนื่องจากหลายบริษัทยังคงมีความกังกลจากความผันผวนของตลาดหุ้นไทยที่ยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งประเด็นดังกล่าว ยังคงเป็นที่น่าจับตาว่าในปี 2562 หรือปี “หมูทอง” แนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยจะสามารถพลิกกลับมาเขียวสดใส และน่าลงทุนได้เหมือนกับในปีที่ผ่านๆ มาหรือไม่ และจะมีหุ้น IPO เรียงแถวเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นมากน้อยเพียงใด เมื่อภาวะตลาดหุ้นไทยยังคงไร้ปัจจัยหนุน รวมถึงเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงชะลอตัวอยู่ขณะนี้