เปิดปูม “รื่นวดี สุวรรณมงคล” เลขาฯก.ล.ต.คนที่ 9
เปิดปูม “รื่นวดี สุวรรณมงคล” เลขาก.ล.ต.คนที่ 9 ดีเดย์ 1 พ.ค.62
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์”ได้ทำการสำรวจและคัดเลือกข่าวประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นในปี 2561 เพื่อนำมานำเสนอให้นักลงทุนได้อ่านอีกครั้ง โดยวันนี้จะนำเสนอประเด็นการแต่งตั้ง นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คนใหม่ซึ่งถือเป็นเลขาฯก.ล.ต.คนที่ 9 นั่นเอง
โดยเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2561 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมบังคับคดี ให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2562
ทั้งนี้การคัดเลือกดังกล่าว ก.ล.ต.ได้เริ่มเปิดรับสมัครบุคคล เพื่อเข้ารับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานแทน นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต.คนปัจจุบัน ที่จะหมดวาระในวันที่ 1 พ.ค. 2562 โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 3-21 ก.ย.ที่ผ่านมา
โดยคณะกรรมการ ก.ล.ต.ได้คัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. จำนวน 2 คน เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาให้เหลือ 1 คน เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งเป็นเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ต่อไป และดุลพินิจการพิจารณากลั่นกรองและเสนอชื่อผู้สมัครของคณะอนุกรรมการและคณะกรรมการ ก.ล.ต.ถือว่าเป็นที่สุด
สำหรับเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. จะมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการบริหารจัดการกิจการและการดำเนินงานของสำนักงาน ก.ล.ต.ให้บรรลุซึ่งวัตถุประสงค์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ตลอดจนให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ นโยบาย และหลักธรรมาภิบาลที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำหนด
ประวัตินางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เกิดวันที่ 4 พฤศจิกายน 2507 จบการศึกษาเนติบัณฑิตไทย (นบ.ท.) สำนักอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, นิติศาสตรมหาบัณฑิต (LL.M.) Harvard Law School, the United States of America , บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (M.B.A.) Walter A. Haas School of Business, University of California, Berkeley, the United States of America และนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประสบการณ์การทำงาน เคยทำงานอยู่กับสำนักงาน ก.ล.ต. เคยเป็นยอธิบดีกรมคุมประพฤติ, ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม, รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม, ช่วยปฏิบัติราชการทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.), รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม
ตำแหน่งปัจจุบัน คือ อธิบดีกรมบังคับคดี, กรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ บริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC
ทั้งนี้แหล่งข่าวจากวงการตลาดทุน กล่าวว่า เชื่อว่าเลาขาฯ ก.ล.ต.คนใหม่จะทำงานในวงการตลาดทุนได้ เพราะเคยทำงานกับสำนักงาน ก.ล.ต.มาก่อน รวมถึงยังเคยดำรงตำแหน่งในหน่วยงานที่สำคัญมาจำนวนมาก จึงเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาและสานต่องานได้อย่างราบรื่น
แน่นอนเลาขาฯ ก.ล.ต.คนใหม่ก็จะเข้ามาสานต่องานจาก”นายรพี สุจริตกุล” ตามแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. 3 ปี (2561 – 2563) ที่มุ่งเน้นให้คนไทยได้รับคำแนะนำการลงทุนที่มีคุณภาพ สนับสนุนให้มีผู้ให้บริการวางแผนทางการเงิน (wealth advice) เพิ่มมากขึ้น และเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีในระยะยาว
อีกทั้งยังส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้เข้าถึงตลาดทุนได้สะดวกและรวดเร็ว สนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจทั้งรายเดิมและรายใหม่ให้บริการที่ตอบโจทย์ผู้ลงทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำลง พร้อมยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลตลาดทุนให้ดียิ่งขึ้น ปฏิรูปกฎเกณฑ์ให้มีเท่าที่จำเป็น เพื่อสร้างประสิทธิภาพสูงสุดทั่วทั้งตลาดทุน
สำหรับแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (2561 – 2563) ของ ก.ล.ต. ครอบคลุม 5 เรื่องสำคัญ ได้แก่
1.สนับสนุนผู้ให้บริการด้านการให้คำแนะนำและวางแผนทางการเงินที่ประชาชนเข้าถึงได้และมีคุณภาพ (wealth advice for all) เป็นการสนับสนุนผู้ให้บริการด้านการให้คำแนะนำและวางแผนทางการเงิน ที่ประชาชนเข้าถึงได้และมีคุณภาพ และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีฟินเทคเพื่อตอบโจทย์และเป็นเครื่องมือช่วยวางแผนทางการเงิน
2.สร้างโอกาสในการระดมทุนสำหรับทุกหน่วยเศรษฐกิจ สร้างทางเลือกช่องทางการระดมทุนใหม่สำหรับธุรกิจ SMEs และ startups ขจัดอุปสรรคและลดต้นทุนการเข้าถึงทุนในช่องทางปัจจุบัน ส่งเสริมการระดมทุนของประเทศเพื่อนบ้าน และสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเป็นผู้เล่นระดับภูมิภาค
3.สร้างศักยภาพการแข่งขันของตลาดทุนไทย โดยการยกระดับสมรรถนะโครงสร้างพื้นฐานรองรับ การประกอบธุรกิจแบบดิจิทัล
4.รู้เท่าทันความเสี่ยงและกำกับดูแลได้อย่างตรงจุด ยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน และธนาคารที่ขายหน่วยลงทุน
5.ยกระดับมาตรฐานการออกมาตรการการกำกับดูแลโดยการปฏิรูปกฎเกณฑ์ที่ใช้ในตลาดทุนให้มีเท่าที่จำเป็น มีการวิเคราะห์ต้นทุน (compliance cost) ผลกระทบและประเมินผลสัมฤทธิ์ พร้อมทั้งสร้างระบบฐานข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการทำงานของ ก.ล.ต. ในอนาคต โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างเต็มที่
สำหรับรายชื่อกรรมการและเลขานุการตั้งแต่อดีต-ปัจจุบันมีดังนี้