ALT ลุยปรับโครงสร้างธุรกิจโอนโครงข่าย SRT ให้บ.ย่อย รองรับขยายงาน-เพิ่มประสิทธิภาพบริหาร
ALT ลุยปรับโครงสร้างธุรกิจโอนขายโครงข่าย SRT ให้บ.ย่อย รองรับการขยายงาน-เพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร
บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ALT ระบุว่า บริษัทได้ดำเนินการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อรองรับการขยายงานในอนาคตช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานให้มีความคล่องตัว ภายใต้การแข่งขันสูงในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยโอนขายโครงข่ายใยแก้วนำแสงพร้อมวงจรและอุปกรณ์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องตามแนวทางรถไฟและทางหลวง (โครงการ SRT) ให้แก่บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เกทเวย์ จำกัด (IG) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นอยู่ 100%
ทั้งนี้การโอนโครงข่าย SRT ดังกล่าว จะดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อ IG ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม จากคณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แล้ว ซึ่งปัจจุบันเงื่อนไขดังกล่าวมีความสมบูรณ์ครบถ้วน จึงพร้อมดำเนินการปรับโครงสร้างธุรกิจตามที่คณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติก่อนหน้านี้
สำหรับรายการทรัพย์สินที่โอน มีมูลค่ารวม 612.73 ล้านบาท โดย IG จะชำระราคาให้แก่ผู้ขายคือบริษัท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ด้วยการออกหุ้นเพิ่มทุน 6.15 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 100 บาท รวมเป็นมูลค่าหุ้นทั้งสิ้น 615 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าส่วนเกินกว่าราคาทรัพย์สินที่ซื้อขายจำนวน 2.27 ล้านบาท บริษัทจะชำระคืนแก่ IG ด้วยเงินสด
สำหรับการปรับโครงสร้างครั้งนี้ เพื่อเพิ่มความชัดเจนและคล่องตัวในการบริหารงาน โดย IG เป็นบริษัทใหม่ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินโครงการนี้เป็นการเฉพาะมีคณะผู้บริหารที่มีความรู้และประสบการณ์เฉพาะด้าน สอดคล้องกับความต้องการทางธุรกิจ ส่วนทรัพย์สินที่บริษัทโอนให้แก่ IG นั้น เป็นเพียงบางส่วนของทรัพย์ของบริษัทเท่านั้น ในโครงการ SRT เอง บริษัทยังคงเหลือจำนวนคอร์เคเบิลบนโครงข่ายที่เพียงพอต่อการให้บริการ Dark Fiber แก่ลูกค้าผู้ให้บริการโทรคมนาคม (Telecome Operator) ทั้งที่เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะต่างจาก IG ที่ให้บริการแต่เพียง Bandwidth เท่านั้น ไม่มีบริการ Dark Fiber ซึ่งจะเน้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมในต่างประเทศเป็นสำคัญ ฉะนั้น ทั้งสองบริษัทจึงไม่มีความขัดแย้งกันเองในการให้บริการแก่ลูกค้า
นอกเหนือจากโครงการ SRT ดังกล่าว บริษัทยังคงมีทรัพย์ที่ได้ลงทุนในโครงการอื่น ๆ เช่น โครงการท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินที่ได้ดำเนินการไปแล้ว 3 เส้นทางของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ถนนสุขุมวิท ถนนพหลโยธิน ถนนพญาไท โครงการนวนครสมาร์ทซิตี้ ในส่วนของโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงภายในสวนอุตสาหกรรม รวมถึงโครงการ BTS Xpress Wi-Fi ที่เปิดให้บริการบนสถานีรถไฟฟ้า BTS ในช่วงสิ้นปี 61