4 หุ้นแบงก์กอดคอร่วง หวั่น NIM ปรับลดช่วงสั้นหลังขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำ
4 หุ้นแบงก์กอดคอร่วง หวั่น NIM ปรับลดช่วงสั้นหลังขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำ นำโดย SCB,KBANK,BBL,TISCO
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ณ เวลา 11.46 น.อยู่ที่ระดับ 132.00 บาท ลบ 3.00 บาท หรือ 2.22% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 594.20 ล้านบาท ราคาต่ำสุด 130.50 บาท สูงสุด 133.00 บาท ส่วนธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ณ เวลา 11.48 น.อยู่ที่ระดับ 184.50 บาท ลบ 1.50 บาท หรือ 0.81% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 640.13 ล้านบาท
ด้านธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL อยู่ที่ 202 บาท ลบ 3 บาท หรือ 1.46% สูงสุดที่ 205 บาท ต่ำสุดที่ 201 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 513.50 ล้านบาท ส่วนบริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO อยู่ที่ 79.75 บาท ลบ 0.25 บาท หรือ 0.31% สูงสุดที่ 80.25 บาท ต่ำสุดที่ 79.75 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 45.34 ล้านบาท
บล.โกลเบล็ก ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ประเด็นลบระยะสั้นหุ้นธนาคารขนาดใหญ่ ในเรื่องที่ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประกาศขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทอีก 0.25% ให้กับลูกค้าบุคคลธรรมดา แต่ยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้
ฝ่ายวิจัยคาดจะเห็นแบงก์ใหญ่ที่เหลือปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากในเร็ว ๆ นี้เช่นกัน บ่งชี้ถึงมุมมองว่าความต้องการสินเชื่อมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นอันเนื่องมาจากการทยอยเปิดประมูลโครงการลงทุนขนาดใหญ่ด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงเตรียมระดมเงินฝากมาเตรียมไว้เพื่อรักษาสภาพคล่อง ซึ่งจะกดดันอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับลดลงในระยะสั้น
อย่างไรก็ดี ฝ่ายวิจัยประเมินว่าในระยะยาวจะเห็นการปรับตัวดีขึ้นของ NIM ให้น้ำหนักการลงทุนเป็น “NEUTRAL” แนะนำ ธนาคารกรุงเทพ (BBL), SCB, ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) และบมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO)
บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า แบงก์ไทยพาณิชย์ (SCB) และกสิกรไทย (KBANK) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน 6 เดือน 12 เดือน 24 เดือน และ 36 เดือน ในอัตราร้อยละ 0.25 ต่อปี สำหรับบุคคลธรรมดาที่มียอดเงินฝากไม่เกิน 5 ล้านบาท ทำให้มีอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตั้งแต่ 1.15-1.85% ต่อปี
โดย SCB มีผลวันนี้ (4 ม.ค.)ส่วน KBANK เริ่ม 5 ม.ค. ทั้งนี้ ธนาคารยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในช่วงนี้ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยและลูกค้าบุคคลไม่ต้องแบกรับภาระหนี้และบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย (ที่มา: ข่าวหุ้น)
KTBST: มุมมองเป็นเป็นลบต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำขาเดียว ขณะที่อัตราเงินกู้ยังไม่มีการปรับขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทันที โดยอิงสัดส่วนเงินฝากประจำในระบบที่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทเท่ากับ 40% (ข้อมูลจาก ธปท.) จะส่งผลต่อกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารราว -1.5% (Worst case scenario ขึ้นแค่เงินฝากขาเดียว) ซึ่ง TCAP ได้รับผลกระทบสูงสุดที่ -3.5%
รองลงมาเป็น BBL ที่ -2.7% แต่อย่างไรก็ดี เชื่อว่า กลุ่มธนาคารจะมีการทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามมาภายใน 2Q19 เพื่อพยายามรักษาส่วนต่างดอกเบี้ย โดยในกลุ่มธนาคารยังให้น้ำหนักการลงทุนเป็น “มากกว่าตลาด” เลือก BBL (ราคาเป้าหมาย 250 บาท) และ KBANK (ราคาเป้าหมาย 240 บาท) เป็น Top pick