สรุปภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศ
สรุปภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศประจำวันที่ 4 ม.ค. 2562
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 700 จุดเมื่อวันศุกร์ (4 ม.ค.) หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะเดียวกันตลาดยังได้รับปัจจัยหนุนจากการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งเกินคาดของสหรัฐ และความหวังที่ว่าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะมีความคืบหน้า นอกจากนี้ การพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มอุตสาหกรรมยังเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนตลาดเช่นกัน
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 23,433.16 จุด พุ่งขึ้น 746.94 จุด หรือ +3.29% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,531.94 จุด เพิ่มขึ้น 84.05 จุด หรือ +3.43% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,738.86 จุด เพิ่มขึ้น 275.35 จุด หรือ +4.26%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดพุ่งขึ้นเมื่อวันศุกร์ (4 ม.ค.) ขานรับความหวังที่ว่า การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะมีความคืบหน้า นอกจากนี้ การพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งของตัวเลขจ้างงานสหรัฐ รวมทั้งดัชนี PMI ภาคบริการของจีนที่ดีดตัวขึ้นในเดือนธ.ค. ยังช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก
ดัชนี Stoxx Europe 600 พุ่งขึ้น 2.83% ปิดที่ระดับ 343.38 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,737.12 จุด เพิ่มขึ้น 125.64 จุด หรือ +2.72% ขณะที่ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 10,767.69 จุด เพิ่มขึ้น 351.03 จุด หรือ +3.37% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,837.42 จุด เพิ่มขึ้น 144.76 จุด หรือ +2.16%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดพุ่งขึ้นเมื่อวันศุกร์ (4 ม.ค.) เนื่องจากการพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งของตัวเลขจ้างงานสหรัฐ รวมทั้งดัชนี PMI ภาคบริการของจีนที่ดีดตัวขึ้นในเดือนธ.ค. ช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยบวกจากดัชนี PMI ภาคบริการของสหราชอาณาจักรที่ฟื้นตัวขึ้นในเดือนธ.ค.
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,837.42 จุด เพิ่มขึ้น 144.76 จุด หรือ +2.16%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 5 เมื่อวันศุกร์ (4 ม.ค.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการที่นักลงทุนมีความหวังว่า การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะมีความคืบหน้า นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังปรับตัวขึ้นหลังจากทางการสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรที่แข็งแกร่งเกินคาด ซึ่งช่วยให้นักลงทุนคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 87 เซนต์ หรือ 1.85% ปิดที่ 47.96 ดอลลาร์/บาร์เรล และตลอดทั้งสัปดาห์ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้นราว 5.8%
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 1.11 ดอลลาร์ หรือ 1.98% ปิดที่ 57.06 ดอลลาร์/บาร์เรล และตลอดทั้งสัปดาห์ สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวขึ้นราว 9.3%
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวลงเมื่อวันศุกร์ (4 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนลดความต้องการถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากตลาดหุ้นสหรัฐดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ขานรับตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐที่ขยายตัวได้ดีเกินคาดในเดือนธ.ค.
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 9 ดอลลาร์ หรือ 0.7% ปิดที่ 1285.80 ดอลลาร์/ออนซ์ อย่างไรก็ตาม ตลอดทั้งสัปดาห์ สัญญาทองคำปรับตัวขึ้นราว 0.2%
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 1.1 เซนต์ หรือ 0.07% ปิดที่ 15.786 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 27.9 ดอลลาร์ หรือ 3.49% ปิดที่ 827.20 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. พุ่งขึ้น 34.10 ดอลลาร์ หรือ 2.8% ปิดที่ 1234.40 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (4 ม.ค.) หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และแสดงความพร้อมที่จะเปลี่ยนแผนลดงบดุล
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9864 ฟรังก์ จากระดับ 0.9885 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3394 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3480 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.52 เยน จากระดับ 107.75 เยน
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1398 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1391 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.2740 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2629 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7116 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7002 ดอลลาร์สหรัฐ