สรุปภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศ

สรุปภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศประจำวันที่ 11 ม.ค. 2562


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดตลาดปรับตัวลงเล็กน้อยเมื่อวันศุกร์ (11 ม.ค.) หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนธ.ค.ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน ขณะที่นักลงทุนยังคงวิตกเกี่ยวกับการปิดหน่วยงานของรัฐบาล (ชัตดาวน์) ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างทำเนียบขาวและสภาคองเกรสเกี่ยวกับการสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโก

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 23,995.95 จุด ลดลง 5.97 จุด หรือ -0.02% ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6971.48 ลดลง 14.59 จุด หรือ -0.21% และดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,596.26 จุด ลดลง 0.38 จุด หรือ -0.01%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดขยับขึ้นเมื่อวันศุกร์ (11 ม.ค.) ในขณะที่นักลงทุนยังคงจับตาสถานการณ์ชัตดาวน์ในสหรัฐ ซึ่งดำเนินมาเป็นวันที่ 21 แล้ว หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์และแกนนำพรรคเดโมแครตในสภาคองเกรสยังไม่สามารถตกลงกันได้ในประเด็นการจัดสรรงบประมาณสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโกวงเงินกว่า 5 พันล้านดอลลาร์

ดัชนี Stoxx Europe 600 เพิ่มขึ้น 0.09% ปิดที่ 349.20 จุด

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,918.18 จุด ลดลง 24.69 จุด หรือ -0.36% ขณะที่ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 10,887.46 จุด ลดลง 34.13 จุด หรือ -0.31% และดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,781.34 จุด ลดลง 24.32 จุด หรือ -0.51%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงเมื่อวันศุกร์ (11 ม.ค.) ขณะที่นักลงทุนระมัดระวังการซื้อขาย พร้อมจับตาการลงมติของรัฐสภาอังกฤษต่อร่างข้อตกลงการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ในวันที่ 15 ม.ค.นี้

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,918.18 จุด ลดลง 24.69 จุด หรือ -0.36%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลดลงเมื่อวันศุกร์ (11 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนพากันเทขายเพื่อทำกำไร หลังราคาสัญญาน้ำมันปรับตัวขึ้นติดต่อกัน 9 วัน ทำสถิติปิดในแดนบวกยาวนานที่สุดในรอบ 9 ปี มาก่อนหน้านี้

สัญญาน้ำมันดิบยังได้รับปัจจัยกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ชัตดาวน์ในสหรัฐที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลาถึง 21 วันแล้วในขณะนี้ ประกอบกับแรงฉุดจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เพราะเมื่อดอลลาร์แข็งค่า ราคาสัญญาน้ำมันดิบที่ซื้อขายด้วยเงินดอลลาร์จะมีราคาสูงขึ้นและน่าดึงดูดใจลดลงสำหรับผู้ถือเงินสกุลอื่น ๆ

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 1 ดอลลาร์ หรือ 1.9% ปิดที่ 51.59 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 1.2 ดอลลาร์ หรือ 2% ปิดที่ 60.48 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดขยับขึ้นเมื่อวันศุกร์ (11 ม.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการร่วงลงของตลาดหุ้นสหรัฐ ซึ่งทำให้นักลงทุนหันมาซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 2.10 ดอลลาร์ หรือ 0.16% ปิดที่ 1,289.50 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 1.30 เซนต์ หรือ 0.08% ปิดที่ 15.656 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 8.10 ดอลลาร์ หรือ 0.98% ปิดที่ 818 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 0.4% ปิดที่ 1,278.70 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (11 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงเข้าซื้อดอลลาร์ หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1465 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1499 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนแข็งค่าแตะระดับ 1.2845 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2744 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7206 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7182 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.48 เยน จากระดับ 108.42 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9844 ฟรังก์ จากระดับ 0.9842  ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3271 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3227 ดอลลาร์แคนาดา

Back to top button