รฟท.เรียก”กลุ่มซีพี”แจงข้อมูลซอง 4 “ไฮสปีดเทรน”เพิ่ม ก่อนปิดจ๊อบเจรจา 25 ม.ค.นี้
รฟท.เรียก"กลุ่มซีพี"แจงข้อมูลซอง 4 “ไฮสปีดเทรน”เพิ่ม ก่อนปิดจ๊อบเจรจา 25 ม.ค.นี้
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ภายหลังประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 224,544.36 ล้านบาทว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้พิจารณารายละเอียด ซอง 4 หรือข้อเสนอเพิ่มเติมของกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ซี.พี.) และพันธมิตรที่ได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมเข้ามาเมื่อวันที่ 9 ม.ค.62
โดยมีเอกสาร 200 หน้า 108 ประเด็นนั้น พบว่า ข้อมูลข้อเสนอเพิ่มเติม ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ทำให้ต้องเชิญผู้แทนกลุ่ม ซีพี เข้ามาชี้แจงรายละเอียดในบางประเด็นต่อคณะกรรมการคัดเลือกฯในวันที่ 18 ม.ค.นี้ เวลา 09.00 น.จากนั้นคณะกรรมการฯจะประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะรับข้อเสนอของซองที่ 4 หรือไม่ หรือรับในบางประเด็น ประเด็นใดบ้าง
จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนของการเจรจาต่อรองกับเอกชนภายในวันที่ 18 ม.ค.นี้พร้อมกันด้วย โดยวางกรอบการเจรจาไว้ 4 หมวด ได้แก่ หมวดการเงิน เป็นต้น ซึ่งจะพยายามให้การเจรจาได้ข้อยุติ หากยังสรุปไม่ได้ ยังมีเวลาเจรจาต่อช่วง วันที่ 21-25 ม.ค.62
อย่างไรก็ตาม ตั้งเป้าว่าจะสรุปผลการเจรจาและการพิจารณาข้อเสนอซอง 4 ให้เรียบร้อยภายในวันที่ 25 ม.ค.62 และจะส่งรายละเอียดของเงื่อนไขที่สรุปได้เพิ่มเติมให้อัยการสูงสุดพิจารณาจากที่ก่อนหน้านี้ได้ส่งร่างสัญญาหลักให้พิจารณาไปแล้ว และเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติ เพื่อเตรียมลงนามสัญญากันต่อไป
“วันนี้คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้พิจารณากรอบเบื้องต้นไปแล้ว แต่ยังเปิดเผยรายละเอียดไม่ได้ เพราะยังไม่ได้เจรจา เงื่อนไขระบุว่าห้ามเปิดเผย เพราะข้อมูลการเจรจายังมีความเกี่ยวพันกันในหลายประเด็น รัฐต้องไม่จ่ายเพิ่มจากข้อเสนอทางการเงิน (ซอง3) รวมถึงเงื่อนไขรายละเอียดช่วงเวลาในการจ่ายเงิน”นายวรวุฒิ กล่าว
ในส่วนของข้อเสนอเพิ่มเติมเรื่องการต่อขยายเส้นทาง จากอู่ตะเภา ไปถึงระยอง , การปรับย้ายตำแหน่งสถานี นายวรวุฒิกล่าวว่า หลายประเด็นข้อมูลยังไม่ครบ ต้องมาชี้แจงเพิ่มเพื่อให้เข้าใจตรงกันและเพื่อประโยชน์สูงสุดของรัฐ และเอกชนยอมรับเพราะเป็นสัญญาร่วมลงทุนรัฐกับเอกชน ทำให้ต้องเจรจาตกลงร่วมกันทั้งสองฝ่าย
นายวรวุฒิ กล่าวว่า เมื่อได้ข้อสรุปการเจรจา และครม.อนุมัติการลงนามได้เมื่อใด จะต้องพิจารณาความพร้อมของภาครัฐประกอบด้วย เนื่องจากรัฐจะต้องส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้เอกชน