THAI คาดรายได้ปี 62 เฉียด 2 แสนลบ. จ่อรับทรัพย์ขายเครื่องบินเก่า 4 พันลบ.ไตรมาส 1/62
THAI คาดรายได้ปี 62 เฉียด 2 แสนลบ. จ่อรับทรัพย์ขายเครื่องบินเก่า 4 พันลบ.ไตรมาส 1/62
นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่ารายได้รวมในปี 62 ของบริษัทใกล้เคียงปีที่แล้วที่มีรายได้ประมาณ 2 แสนล้านบาท และยังรักษากำไรจากการดำเนินงาน (Operating Profit) แม้ว่าในปีนี้จะไม่มีที่นั่งเพิ่มขึ้น แต่จะหันเน้นหารายได้เสริมจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องหรือธุรกิจสนับสนุนธุรกิจการบิน
ได้แก่ ธุรกิจครัวการบินที่ปีนี้คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ธุรกิจขายสินค้าที่ระลึกจะมีการบุกตลาดมากขึ้น และธุรกิจการซ่อมบำรุงอากาศยาน โดยบริษัทเตรียมแผนลงทุนตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในสนามบินอู่ตะเภาและสนามบินดอนเมือง
นอกจากนี้ มองว่าในปี 2562 ธุรกิจการบินจะมีการแข่งขันรุนแรงไม่แตกต่างจากปี 61 การบินไทย ในฐานะสายการบิน Full Service ก็มีคู่แข่งที่เป็นสายการบิน Low Cost ที่เข้ามาแข่งขันเส้นทางที่บินระยะไกลมากขึ้น แย่งตลาดสำคัญบางจุดบินในต่างประเทศ ขณะที่การแข่งขันตลาดในประเทศก็ยังรุนแรงเช่นกัน นอกจากนี้ราคาน้ำมันยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับธุรกิจ แต่ระดับราคาน้ำมันที่เคลื่อนไหวในปัจจุบัน ยังสามารถแข่งขันได้
สำหรับภาพรวมธุรกิจการบินไนปี 62 มีทั้งปัจจัยบวกและลบ การบินไทยวันนี้ด้วยสภาพ Fleet เราไม่ใหญ่ มีทั้งข้อดี-ข้อเสีย ข้อดีทำให้เครื่องบินเราแน่นทุกไฟลท์ Destination ของเรายังเป็นยอดนิยม ข้อเสียของการมีเครื่องบินน้อย เวลาเกิดเหตุการณ์ที่ต้อง Cancel Flight ก็จะมีค่าใช้จ่ายเข้ามา
โดยการบินไทยในปีนี้ยังคงรักษา Operating Profit แต่สิ่งที่จะเน้นมากขึ้นคือ ธุรกิจสนับสุน เช่น ธุรกิจครัวการบินไทยที่ยังมีประสิทธิภาพ โดยขยายตัวเพิ่มขึ้น และมุ่งเน้นธุรกิจขายของ ขณะเดียวกันธุรกิจศูนย์ซ่อม หวังว่าจะมีรายได้เสริมเข้ามาช่วงรอจังหวะฝูงบินใหม่ ระหว่างนี้เราอาจมองว่าแนวทางว่าจัดเช่าเครื่องบินก่อนเพราะโอกาสมี เราเชื่อมั่นแบรนด์ดิ้งที่ยาวนาน 59 ปี เราเชื่อมั่นว่าเรายังแข่งขันในตลาดสากลได้ดี
ส่วนแผนปฏิรูปองค์กรหรือแผนฟื้นฟูองค์กรของการบินไทย ฝ่ายบริหารเตรียมนำเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ในวันนี้(17 ม.ค.)
ขณะที่สายการบินไทยสมายล์ นายสุเมธ กล่าวว่า จะเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการของไทยสมายล์เพื่อทำนโยบายเชื่อมต่อระหว่างการบินไทยและไทยสมายล์มากขึ้น ขณะเดียวกันจะเข้าไปบริหารจัดการต้นทุน เชื่อว่าจะทำให้ผลประกอบการดีขึ้น ซึ่งในปีนี้คาดว่าขาดทุนน้อยลง โดยในปี 60 สายการบินไทยสมายล์มีผลขาดทุนถึง 1,600 ล้านบาท
สำหรับ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ซึ่ง THAI ถือหุ้น 21.80% นั้น นายสุเมธ กล่าวว่า สายการบินนกแอร์เตรียมแผนเพิ่มทุนโดยรอการอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 22 ม.ค.นี้ จากนั้นการบินไทยจึงจะนำไปวิเคราะห์ว่าจะวาง Position อย่างไร ก่อนจะตัดสินใจว่าจะเพิ่มทุนให้กับ NOK หรือไม่
นายสุเมธ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าของการจัดหาเครื่องบินว่า ขณะนี้การบินไทยอยู่ระหว่างจัดทำแผนรายละเอียดแผนการจัดหาเครื่องบินใหม่ จำนวน 38 ลำ วงเงินกว่า 2 แสนล้านบาท โดยจะนำเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมอย่างเร็วที่สุดในวันที่ 18 ม.ค.62 หรืออย่างช้าภายในสัปดาห์หน้า ก่อนจะส่งให้กับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อพิจารณาและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังจากนั้นจะสรุปแหล่งเงินทุนใน 2-3 เดือน ซึ่งบริษัทจะพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะปัจจุบันมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่ 8 เท่าซึ่งสูงมาก เริ่มสั่งซื้อในปี 62 และใช้เวลา 2 ปี หรือปี 64 ทยอยรับมอบเครื่องบิน
ทั้งนี้ การจัดหาเครื่องบินใหม่จำนวน 38 ลำ จะสามารถรองรับธุรกิจได้ในช่วง 7-8 ปี ส่วนใหญ่นำมาทดแทนเครื่องบินเก่า 31 ลำ โดยจะแบ่งเป็น 2 ล็อต ล็อตแรกจำนวน 25 ลำ นำไปทดแทนเครื่องบินเก่า 19 ลำ และล็อตสอง จำนวน 13 ลำ นำไปทดแทนเครื่องเก่า 12 ลำ และจะทำให้ฝูงบินเพิ่มขึ้นมาเป็น 110 ลำ จากปัจจุบันฝูงบินมี 101 ลำ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้การบินไทยไม่เพิ่มจำนวนเครื่องบินได้ ขณะที่ตลาดให้ความเชื่อมั่นแบรนด์และมีจุดหมายปลายทาง(Destination) ที่ได้รับความนิยม จึงเป็นไปได้ที่จะเช่าเครื่องบินอย่างน้อย 2 ลำ ขนาด 300 ที่นั่ง มารองรับตลาดก่อน
“ข้อเสนอของการบินไทยไปยังรัฐบาล ก็คือการจัดหาเครื่องบินในกรอบ 38 ลำ มีข้อสรุปตามกรอบที่ปรึกษาต่างประเทศ โดยเครื่องบินส่วนใหญ่มาทดแทนเครื่องบินเก่าที่มีอายุมาก เพื่อให้เหมาะสมกับภารกิจแผนธุรกิจการบินที่เราจะเน้นเรื่องความถี่ มากกว่าระยะทาง ดังนั้น ขนาดของเครื่องบินต้องมีความเหมาะสม ประกอบกับเรื่องตัวเครื่องบินหลายลำเริ่มส่งอาการว่าถ้าไม่จัดหาในเวลาอันใกล้นี้ จะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการบิน” นายสุเมธ กล่าว
นายสุเมธ กล่าวอีกว่า กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI กล่าวว่า การจัดหาเครื่องบินดังกล่าวคาดว่าจะสามารถทำให้ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นปีละ 3% โดยหากได้รับอนุมัติการจัดหาเครื่องบินแล้วบริษัทจะวิเคราะห์เส้นทางบินใหม่ ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการกำหนดยุทธศาสตร์การบิน
ด้านนายสุรชัย เพียรเจริญศักดิ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายช่าง THAI กล่าวว่า คณะกรรมการบริษัทวานนี้อนุมัติขายเครื่องบินเก่า 16 ลำจากทั้งหมดเครื่องบินเก่าที่รอขาย 20 ลำ เป็นจำนวนเงิน 4 พันล้านบาท จากผู้ซื้อ 3 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาบางส่วน ซึ่งจะรับรู้รายได้ทั้งหมดในปีนี้ โดยเริ่มทยอยรับรู้ฯ ตั้งแต่ในไตรมาส 1/62
ส่วนเครื่องบินที่รอขายอีก 4 ลำ ได้แก่ แอร์บัส เอ 300-600 จำนวน 1 ลำ แอร์บัส เอ 340-500 จำนวน 1 ลำ และ โบอิ้ง 737-400 จำนวน 2 ลำ บริษัทยังรับภาระค่าเสื่อมราคาทุกไตรมาส