CAZ ตีตื้น! ปิดตลาดวันแรกเท่าจอง 3.90 บ. โบรกฯเคาะเป้า 6.20 บ. อัพไซด์พุ่งเกิน 50%

CAZ ตีตื้น! ปิดตลาดวันแรกเท่าจอง 3.90 บ. โบรกฯเชียร์ซื้อเคาะเป้า 6.20 บ. อัพไซด์พุ่งเกิน 50%


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้น บริษัท ซี เอ แซด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CAZ ปิดตลาดวันนี้อยู่ที่ 3.90 บาท เท่าราคา IPO ที่ 3.90 บาท สูงสุดที่ 3.90 บาท ต่ำสุดที่ 3.60 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 174.48 ล้านบาท

ทั้งนี้  CAZ  เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) วันนี้ (22 ม.ค.) เป็นวันแรก โดยมีราคา IPO ที่ 3.90 บาท

โดย บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ ประเมินราคาเป้าหมาย CAZ ที่ 6.20 บาทต่อหุ้น (อิง ForwardPER ปี 2562 ที่ 16.7 เท่า) หรือคิดเป็น PEG ปี 2562 เพียง 0.3 เท่า (อิง 2018-20EPS CAGR ที่ 65%) โดย CAZ ประกอบธุรกิจให้บริการด้านการออกแบบวิศวกรรม, และการบริหารจัดการงานรับเหมาก่อสร้างแบบครบวงจร (Engineering, Procurement and Construction: EPC) ซึ่งมองว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะพื้นที่ EEC ก่อให้เกิดความต้องการทางด้านพลังงานที่สูงนั้นหนุนต่อรายได้ของบริษัท

ทั้งนี้จาก Backlog ในไตรมาส 2/61 ที่ 2.2 พันล้านบาท, งานใหม่ที่มีการเซ็นสัญญาในช่วงไตรมาส 3/62 คิดเป็นมูลค่ากว่า 762 ล้านบาท และโอกาสในการชนะประมูลงานต่างๆที่สูง โดยเฉพาะกลุ่ม ปตท. จึงคาดว่าบริษัทจะมีรายได้จากการให้บริการในปี 2562 ที่ 2.5 พันล้านบาท โต 56% เทียบจากปีก่อน โดยเป็นรายได้ที่รับรู้จากฐาน Backlog ที่เซ็นสัญญาแล้วกว่า 86%

นอกจากนี้มองว่าบริษัทจะมีอัตรากำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้น จากความสามารถในการบริหารต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ดี คาดปี 2562 ที่ 4.3% เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่อยู่ที่ 3.5% ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิปี 2562 ที่ 105 ล้านบาท โต 90% เทียบจากปีก่อน

ส่วน บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ ประเมินมูลค่าหุ้น CAZ ด้วยวิธี PE Ratio โดยอิง PE ปี 2562 ที่ 15 เท่า ใกล้เคียงกับบริษัทในอุตสาหกรรมที่ทำธุรกิจใกล้เคียงกัน มีลูกค้าในกลุ่มเดียวกัน และมีอัตรากำไรใกล้เคียงกันอย่าง TTCL และ TRC ทำให้ได้ราคาเหมาะสมที่ 5.50 บาท/หุ้น

โดย CAZ ให้บริการรับเหมาก่อสร้างครบวงจร รับเหมาก่อสร้างติดตั้งโครงสร้างและระบบ รวมถึงงานบริการด้านวิศวกรรมโยธาและอาคารที่มีความซับซ้อน มีกลุ่ม PTT เป็นลูกค้าเพียงกลุ่มเดียวซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง การเพิ่มทุนครั้งนี้จะช่วยเพิ่มฐานเงินทุนเพื่อรองรับการประมูลงานขนาดใหญ่ในอนาคตที่มีแนวโน้มจะมากขึ้นตามแผนลงทุนของกลุ่มพลังงานและปิโตรฯของไทยหลังจากขาดการลงทุนขนาดใหญ่มานาน ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมี Backlog ราว 3 พันล้านบาท รองรับประมาณการรายได้ในปี 2561-2562 ของบล.ฟินันเซีย ไซรัส แล้ว 90%

สำหรับปี 2563 ที่มีงานในมือน้อยมาก แต่ตลาดที่ใหญ่ขึ้น คาดหวังว่าบริษัทจะได้รับงานเพิ่ม บล.ฟินันเซีย ไซรัส คาดรายได้ปี 2561-2563 เติบโตเฉลี่ย 29% Gross margin รักษาได้ใกล้เคียงในอดีตที่ 10% +/- เงินจากการเพิ่มทุนจะนำไปคืนหนี้บางส่วน ทำให้กำไรสุทธิโตเฉลี่ย 56% CAGR

ด้าน น.ส.นิตา ตรีวีรานุวัฒน์ กรรมการบริหาร CAZ เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 62 เติบโตเฉลี่ย 30-40% ใกล้เคียงกับในช่วงอดีตที่ผ่านมา จากมีงานในมือ (backlog) ณ ไตรมาสที่ 3/61 ราว 2.8 พันล้านบาท โดยจะทยอยรับรู้เป็นรายได้ส่วนใหญ่ในปีนี้และสิ้นสุดในช่วงไตรมาสที่ 1/62

โดยปัจจุบันบริษัทมีแผนเตรียมเข้าประมูลงานจำนวน 2 โครงการ โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนอย่างน้อย 1 โครงการในปีนี้ โดยยังไม่สามารถเปิดเผยมูลค่าได้ ซึ่งงานโครงการดังกล่าวจะมาจากกลุ่มลูกค้าเดิม ประกอบกับบริษัทมีโอกาสได้รับงานใหม่อีกมาก เนื่องจากลูกค้ากว่า 90% เป็นกลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) ที่มีแผนการลงทุนระยะยาวในอีก 5 ปีข้างหน้า

ส่วน นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา ราคาหุ้นในวันทำการเปิดการซื้อขายวันแรกต่ำกว่าราคา IPO นั้นมองว่าเกิดจากปัจจัยภายนอกระยะสั้นที่ไม่สามารถควบคุมได้ ประกอบกับภาวะตลาดหุ้นมีความผันผวน อย่างไรก็ตามมองว่าปัจจัยลบต่าง ๆ จะเกิดขึ้นแค่ชั่วคราวเท่านั้น

โดยยังมองว่าปัจจุบันตลาดหุ้นไทยยังมีความน่าสนใจในการเข้าลงทุน จากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีการดำเนินธุรกิจที่แข็งแกร่งและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ยังมีธุรกิจใหม่ ๆ ที่สนใจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เช่น ธุรกิจกีฬา (บริษัท บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จำกัด, บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด, บริษัท ไทยไฟท์ จำกัด) ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าจดทะเบียนในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับตลาดหุ้นไทย

Back to top button