สรุปภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศ
สรุปภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศประจำวันที่ 24 ม.ค. 2562
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดขยับลงเมื่อคืนนี้ (24 ม.ค.) เนื่องจากความไม่แน่นอนของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากรัฐมนตรีกระทรวงสหรัฐยอมรับว่า การบรรลุข้อตกลงการค้ากับจีนยังคงอยู่ห่างไกล นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกกังวลว่าสถานการณ์ชัตดาวน์ในสหรัฐจะยืดเยื้อต่อไป หลังจากวุฒิสภาสหรัฐคว่ำร่างกฎหมายงบประมาณ 2 ฉบับ อย่างไรก็ตาม ดัชนี Nasdaq และ S&P500 ดีดตัวขึ้นปิดในแดนบวก โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และผลประกอบการที่สดใสของบริษัทจดทะเบียน
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,553.24 จุด ลดลง 22.38 จุด หรือ -0.09% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,642.33 จุด เพิ่มขึ้น 3.63 จุด หรือ +0.14% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,073.46 จุด เพิ่มขึ้น 47.69 จุด หรือ +0.68%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (24 ม.ค.) หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเมื่อวานนี้ พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยจนถึงกลางปีนี้ อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับแรงกดดันจากรายงานที่ว่า ดัชนี PMI รวมภาคผลิต-บริการยูโรโซนเดือนม.ค. ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปีครึ่ง
ดัชนี Stoxx Europe 600 เพิ่มขึ้น 0.22% ปิดที่ 355.67 จุด
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 11,130.18 จุด เพิ่มขึ้น 58.64 จุด หรือ +0.53% ขณะที่ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,871.96 จุด เพิ่มขึ้น 31.58 จุด หรือ +0.65% ส่วนดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,818.95 จุด ลดลง 23.93 จุด หรือ -0.35%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (24 ม.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของหุ้นโวดาโฟน รวมทั้งความวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์ที่อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)
ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,818.95 จุด ลดลง 23.93 จุด หรือ -0.35%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (24 ม.ค.) หลังจากสหรัฐขู่ว่าจะคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของเวเนซุเอลา ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดภาวะอุปทานน้ำมันตึงตัวในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม ตลาดน้ำมันได้รับปัจจัยกดดันจากรายงานที่ว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐพุ่งขึ้นสวนทางกับตัวเลขคาดการณ์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 51 เซนต์ หรือ 1% ปิดที่ 53.13 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 5 เซนต์ หรือประมาณ 0.09% ปิดที่ 61.09 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (24 ม.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงจำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานที่ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 50 ปีนั้น ยังส่งผลให้นักลงทุนลดการถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 4.20 ดอลลาร์ หรือ 0.33% ปิดที่ 1,279.8 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 8 เซนต์ หรือ 0.52% ปิดที่ 15.3 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 8.60 ดอลลาร์ หรือ 1.08% ปิดที่ 805 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 27.50 ดอลลาร์ หรือ 2.1% ปิดที่ 1280.70 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (24 ม.ค.) ขานรับข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงจำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานที่ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 50 ปี และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐที่ขยายตัวแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.68 เยน จากระดับ 109.57 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9967 ฟรังก์ จากระดับ 0.9947 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3352 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3343 ดอลลาร์แคนาดา
สกุลเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1299 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1382 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.3051 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3063 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7086 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7141 ดอลลาร์สหรัฐ