กกพ.เปิดแผนรับซื้อโซลาร์ประชาชน 100MW ในไตรมาส 2 รับลูก PDP ฉบับใหม่ฉลุย!

กกพ.เปิดแผนรับซื้อโซลาร์ประชาชน 100MW ในไตรมาส 2-จ่อประกาศซื้อไฟฟ้า SPP ขยะชุมชน หลัง PDP ฉบับใหม่ฉลุย


นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงานกกพ.) ในฐานะโฆษกกกพ. เปิดเผยว่า กกพ.เตรียมผลักดันการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามนโยบายภาครัฐ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ภาคประชาชน จำนวน 100 เมกะวัตต์ (MW) ในช่วงไตรมาส 2/62 และการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ที่ใช้เชื้อเพลิงจากขยะชุมชน ในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้านี้ด้วย โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมออกหลักเกณฑ์และร่างประกาศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จก่อน

“โซลาร์ภาคประชาชนถูกบรรจุอยู่ในแผน PDP ใหม่ที่เพิ่งได้รับการอนุมัติจาก กพช. หลังจากนี้ก็น่าจะมีการนำเสนอต่อครม.ต่อไป หลังจากนั้นเมื่อได้นโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาลแล้ว กกพ.ก็จะออกหลักเกณฑ์และร่างประกาศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และเปิดให้รับฟังความคิดเห็น ก่อนจะออกประกาศรับซื้อต่อไป สำหรับปีนี้เป็นปีแรกจะรับซื้อ 100 เมกะวัตต์ น่าจะออกประกาศได้ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้”นางสาวนฤภัทร กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ก่อนคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) โดยส่วนหนึ่งจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าตามนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐในช่วงปี 61-80 ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าขยะ 400 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 120 เมกะวัตต์ รวม 520 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จำนวน 20,766 เมกะวัตต์  ซึ่งในส่วนนี้เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โซลาร์ภาคประชาชน 10,000 เมกะวัตต์ เป็นต้น

โดยระหว่างที่รอนโยบายที่ชัดเจนอย่างเป็นทางการจากภาครัฐออกมา กกพ.ก็เตรียมออกหลักเกณฑ์และร่างประกาศต่าง ๆ การรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ภาคประชาชนที่เบื้องต้นจะเป็นการผลิตไฟฟ้าบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ที่เหลือจากการใช้ภายในพื้นที่ก็ให้ขายไฟฟ้าเข้าระบบ โดยมีอัตราการรับซื้อไฟฟ้าที่ราว 1.6-1.8 บาท/หน่วย

ส่วนการรับซื้อว่าจะเป็นพื้นที่ใด และประเภทที่ติดตั้งจะเป็นที่อยู่อาศัย ,อาคาร ,โรงงาน ,โรงเรียน ,มหาวิทยาลัยต่าง ๆ นั้น ต้องรอการหารือรายละเอียดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กกพ.,สำนักงานคณะกรรมการนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และการไฟฟ้าด้วย และหลังออกประกาศรับซื้อแล้วต้องมีเวลาในการยื่นข้อเสนอและพิจารณาข้อเสนอ ก่อนจะอนุมัติและเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ทำให้คาดว่าการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบอาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงปลายปี 62 หรือต้นปี 63 ขณะที่การลงทุนเบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ที่ราว 30-40 ล้านบาท/เมกะวัตต์

สำหรับความคืบหน้าการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนนั้น ตามแผน PDP ฉบับเดิมมีเป้าหมายที่จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน 500 เมกะวัตต์ ซึ่งข้อมูลล่าสุด ณ เดือน ก.ย.61 มีปริมาณรับซื้อไฟฟ้าแล้ว 376 เมกะวัตต์ โดยอยู่ระหว่างการเปิดรับยื่นข้อซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนตามโครงการที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการในระยะแรก (Quick win Projects) จำนวน 78 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ใน 8 พื้นที่ 12 โครงการ โดยโครงการทั้งหมดเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP) ที่มีขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีผู้ทยอยยื่นข้อเสนอเข้ามา โดยจะสิ้นสุดเวลารับข้อเสนอในเดือนมี.ค.62 ขณะที่กกพ.ได้อนุมัติไปแล้ว 2 โครงการ ในจ.หนองคาย และจ.กระบี่ มีปริมาณขายไฟฟ้ารวม 10.4 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ กกพ.ยังเตรียมออกหลักเกณฑ์และร่างประกาศ เพื่อรองรับการรับซื้อไฟฟ้า SPP จากเชื้อเพลิงขยะชุมชน โดยกลุ่ม SPP นี้จะมีกำลังการผลิตเกิน 10 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะออกประกาศรับซื้อได้ในภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า เบื้องต้นมีราคารับซื้ออยู่ที่ 3.66 บาท/หน่วย เป็นเวลา 20-25 ปี ส่วนรายละเอียดการรับซื้อและปริมาณการรับซื้ออยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการรับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่ม SPP นี้จะอยู่ในเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน 500 เมกะวัตต์เดิม ส่วนตามแผน PDP ใหม่ที่เป้าหมายจะมีการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนเพิ่มขึ้นอีก 400 เมกะวัตต์นั้น ก็จะต้องหารือในรายละเอียดกันต่อไป

ส่วนการพิจารณาต่ออายุสัญญาโรงไฟฟ้า SPP ระบบ Cogeneration ตามมติที่ประชุมกพช. ที่ให้ต่ออายุสำหรับโรงไฟฟ้าที่กำลังจะสิ้นสุดอายุสัญญาในปี 62-64 และไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ได้ทัน เพื่อให้สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ได้นั้น ก็ต้องรอให้รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนออกมา เพื่อให้กกพ.ออกระเบียบและร่างประกาศต่อไป หลังจากการไฟฟ้า ซึ่งเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าและภาคเอกชน ที่เป็นผู้เสนอขายไฟฟ้าก็จะไปเจรจาเรื่องสัญญากันต่อไป

Back to top button