สรุปภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศ
สรุปภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศประจำวันที่ 4 ก.พ. 2562
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (4 ก.พ.) โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มอุตสาหกรรม ท่ามกลางความหวังที่ว่าความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาผลประกอบการของบริษัทอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล และการแถลงนโยบายประจำปี (State of the Union) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงเช้าวันพรุ่งนี้ตามเวลาไทย
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,239.37 จุด เพิ่มขึ้น 175.48 จุด หรือ +0.70% ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,347.54 จุด เพิ่มขึ้น 83.67 จุด หรือ +1.15% และดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,724.87 จุด เพิ่มขึ้น 18.34 จุด หรือ +0.68%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (4 ก.พ.) โดยหุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลงอย่างหนัก นำโดยหุ้นธนาคารจูเลียส แบร์ของสวิตเซอร์แลนด์ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,000.19 จุด ลดลง 19.07 จุด หรือ -0.38% ส่วนดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 11,176.58 จุด ลดลง 4.08 จุด หรือ -0.04% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,034.13 จุด เพิ่มขึ้น 13.91 จุด หรือ +0.20%
ส่วนดัชนี Stoxx Europe 600 เพิ่มขึ้น 0.06% ปิดที่ 359.92 จุด
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อคืนนี้ (4 ก.พ.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นรอยัล ดัทช์ เชลล์ ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานรายใหญ่ของอังกฤษ อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มเหมืองแร่อ่อนแรงลง หลังจากมีรายงานว่า ดัชนี PMI ภาคบริการของจีนชะลอตัวลงในเดือนม.ค.
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,034.13 จุด เพิ่มขึ้น 13.91 จุด หรือ +0.20%
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 2 เมื่อคืนนี้ (4 ก.พ.) เนื่องจากการดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งของตลาดหุ้นสหรัฐส่งผลให้นักลงทุนเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย และเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า นอกจากนี้ การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐยังสร้างแรงกดดันต่อตลาดทองคำเช่นกัน
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 2.80 ดอลลาร์ หรือ 0.21% ปิดที่ 1,319.30 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 4.5 เซนต์ หรือ 0.28% ปิดที่ 15.886 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 3.90 ดอลลาร์ หรือ 0.47% ปิดที่ 822.80 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. พุ่งขึ้น 16.80 ดอลลาร์ หรือ 1.3% ปิดที่ 1330.40 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (4 ก.พ.) หลังจากสหรัฐและจีนเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอาจส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันลดน้อยลงด้วย
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 70 เซนต์ หรือ 1.3% ปิดที่ 54.56 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 24 เซนต์ หรือ 0.4% ปิดที่ 62.51 ดอลลาร์/บาร์เรล
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตราเมื่อคืนนี้ (4 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐมากขึ้น หลังจากตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนม.ค.ของสหรัฐขยายตัวแข็งแกร่งเกินคาด
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.91 เยน จากระดับ 109.51 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9983 ฟรังก์ จากระดับ 0.9951 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3124 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3087 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1432 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1460 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.3043 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3082 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7224 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7250 ดอลลาร์สหรัฐ