วิตกหนี้กรีซ-จีดีพีสหรัฐหดตัวกดดาวโจนส์ปิดวานนี้ร่วงเกือบ 1%
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (24 มิ.ย.) เพราะได้รับแรงกดดันจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐที่หดตัวลงในไตรมาสแรกปีนี้ และจากการที่นักลงทุนเริ่มกลับมาวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้สินของกรีซอีกครั้ง หลังจากมีรายงานว่าที่ประชุมยูโรกรุ๊ปยังไม่สามารถตกลงกันได้
สำนักข่าวอินโฟเควสท์รายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดวานนี้ (24 มิ.ย.) ที่ 17,966.07 จุด ลดลง 178.00 จุด หรือ -0.98%, ดัชนี NASDAQ ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดวันทำการล่าสุดที่ 5,122.41 จุด ลดลง 37.68 จุด, -0.73% และดัชนี S&P 500 ปิดที่ 2,108.58 จุด ลดลง 15.62 จุด หรือ -0.74%
ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กเป็นไปอย่างซบเซา หลังจากนายเจอโรน ดิจเซลโบลม ประธานกลุ่มรัฐมนตรีคลังยูโรโซน หรือยูโรกรุ๊ป เปิดเผยว่า การประชุมยูโรกรุ๊ปเกี่ยวกับประเด็นหนี้สินของกรีซซึ่งจัดขึ้นเมื่อวานนั้น ที่ประชุมยังไม่สามารถตกลงกันได้ ด้านนายอเล็กซิส ซิปราส นายกรัฐมนตรีกรีซ เปิดเผยว่า กลุ่มเจ้าหนี้ไม่ยอมรับข้อเสนอของกรีซ
ด้านนายมาร์ติน แจเกอร์ โฆษกกระทรวงการคลังเยอรมนี กล่าวเมื่อวานนี้ว่า กรีซและเจ้าหนี้ยังคงต้องใช้ความพยายามในการบรรลุข้อตกลง และขณะนี้ขึ้นอยู่กับทางกรีซที่จะทำการประนีประนอม ทั้งนี้ คำกล่าวของนายแจเกอร์ส่งสัญญาณว่าเยอรมนีไม่ยินยอมที่จะอ่อนข้อสำหรับมาตรการรัดเข็มขัดที่กลุ่มเจ้าหนี้ยื่นเงื่อนไขให้กับกรีซ ก่อนหน้าการประชุมรมว.คลังยูโรโซนในวันนี้
อย่างไรก็ตาม ยูโรกรุ๊ปจะเดินหน้าหารือกันต่อไปในการประชุมวันนี้ ในขณะที่กรีซและบรรดาเจ้าหนี้ต่างพยายามที่จะบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการปฏิรูปให้ได้ภายในสัปดาห์นี้ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันหลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขั้นสุดท้ายสำหรับช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ หดตัวลง 0.2% ซึ่งนับเป็นไตรมาสที่ 5 ในรอบ 6 ปี ที่เศรษฐกิจไม่สามารถขยายตัวถึง 1%
หุ้นเจนเนอรัล มอเตอร์ ร่วงลง 3.1% ขณะที่หุ้นฟอร์ด มอเตอร์ ปรับขึ้น 1.4% ส่วนหุ้นเนทฟลิกซ์ ขยับลง 0.4%, หุ้นกลุ่มการเงินปรับตัวลง โดยหุ้นซิตี้กรุ๊ป หุ้นคีย์คอร์ป และหุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา ต่างก็ร่วงลงกว่า 1% ส่วนหุ้นโกลด์แมน แซคส์ ดิ่งลง 1.8%
ขณะที่นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์, ข้อมูลรายได้-การบริโภคส่วนบุคคลเดือนพ.ค., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเบื้องต้นเดือนมิ.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคช่วงท้ายเดือนมิ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน