สรุปภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศ
สรุปภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศประจำวันที่ 6 ก.พ. 2562
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (6 ก.พ.) หลังจากการแถลงนโยบายประจำปี (State of the Union) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ ไม่ได้ลงรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับแผนเศรษฐกิจในอนาคต อย่างไรก็ตาม ดัชนีดาวโจนส์ขยับลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากตลาดได้ปัจจัยหนุนจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งความหวังที่ว่าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะมีความคืบหน้า
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,390.30 จุด ลดลง 21.22 จุด หรือ -0.08% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,731.61 จุด ลดลง 6.09 จุด หรือ -0.22% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,375.28 จุด ลดลง 26.80 จุด หรือ -0.36%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบเมื่อคืนนี้ (6 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจยูโรโซน โดยล่าสุดทางการเยอรมนีรายงานว่า ยอดสั่งซื้อในภาคการผลิตของเยอรมนีร่วงลงสวนทางกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ขณะที่นักลงทุนจับตาการรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ของยุโรป
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 11,324.72 จุด ลดลง 43.26 จุด หรือ -0.38% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,173.09 จุด ลดลง 4.28 จุด หรือ -0.06% และดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,079.05 จุด ลดลง 4.29 จุด หรือ -0.08%
อย่างไรก็ตาม ดัชนี Stoxx Europe 600 เพิ่มขึ้น 0.15% ปิดที่ 365.52 จุด
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบเมื่อคืนนี้ (6 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากตลาดพุ่งขึ้นติดต่อกัน 6 วันทำการ ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) และการเจรจาว่าด้วยข้อตกลงที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,173.09 จุด ลดลง 4.28 จุด หรือ -0.06%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (6 ก.พ.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลสต็อกน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันยังคงได้ปัจจัยหนุนจากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก)
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 35 เซนต์ หรือ 0.7% ปิดที่ 54.01 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 71 เซนต์ หรือ 1.2% ปิดที่ 62.69 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลดลงเมื่อคืนนี้ (6 ก.พ.) ซึ่งเป็นการปรับตัวลง 4 ติดต่อกัน เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์ได้ลดความต้องการซื้อทองคำ
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 4.80 ดอลลาร์หรือ 0.36% ปิดที่ 1,314.40 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 13.50 เซนต์ หรือ 0.85% ปิดที่ 15.701 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 6.10 ดอลลาร์หรือ 0.74% ปิดที่ 813.80 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. พุ่งขึ้น 10.40 ดอลลาร์ หรือ 0.8% ปิดที่ 1,351.60 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (6 ก.พ.) หลังนักลงทุนปรับตัวรับการแถลงนโยบายประจำปี (State of the Union) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ โดยนักวิเคราะห์กล่าวว่า การที่ปธน.ทรัมป์ระบุย้ำถึงข้อเรียกร้องในการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานนั้น อาจนำไปสู่การกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวขึ้น 0.35% สู่ระดับ 96.3977
ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.98 เยน จากระดับ 109.97 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 1.0025 ฟรังก์ จาก 1.0002 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3203 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3144 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1363 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1409 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.2937 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2954 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าสู่ระดับ 0.7113 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7229 ดอลลาร์สหรัฐ