สรุปภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศ

สรุปภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศประจำวันที่ 7 ก.พ. 2562


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (7 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของยูโรโซนในปีนี้และปีหน้า นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลที่ว่า การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนอาจจะไม่คืบหน้า

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,169.53 จุด ร่วงลง 220.77 จุด หรือ -0.87% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,706.05 จุด ลดลง 25.56 จุดหรือ -0.94% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,288.35 จุด ลบ 86.93 จุด หรือ -1.18%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (7 ก.พ.) นำโดยการร่วงลงอย่างหนักของตลาดหุ้นเยอรมนีหลังการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซา ขณะที่หุ้นกลุ่มธนาคารได้รับปัจจัยกดดันจากผลประกอบการที่อ่อนแอ

ดัชนี Stoxx Europe 600 ร่วง 1.49% ปิดที่ 360.08 จุด

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,985.56 จุด ลดลง 93.49 จุด หรือ -1.84% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 11,022.02 จุด ร่วง 302.70 จุด หรือ -2.67% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,093.58 จุด ลดลง 79.51 จุด หรือ -1.11%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลดลงเมื่อคืนนี้ (7 ก.พ.) โดยหุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวลง หลังธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจอังกฤษในปีนี้ เนื่องจากผลกระทบของการที่อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,093.58 จุด ลดลง 79.51 จุดหรือ -1.11%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (7 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันลดน้อยลงด้วย นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันยังได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ รวมทั้งรายงานข่าวที่ว่า ลิเบียอาจจะกลับมาผลิตน้ำมันอีกครั้งในเร็วๆนี้

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 1.37 ดอลลาร์ หรือ 2.5% ปิดที่ 52.64 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนเม.ย. ดิ่งลง 1.06 ดอลลาร์ หรือ 1.7% ปิดที่ 61.63 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (7 ก.พ.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ส่งผลให้สัญญาทองคำปิดในแดนลบติดต่อกันเป็นวันที่ 5 ซึ่งเป็นสถิติการปิดลบที่ยาวนานที่สุดในรอบ 18 เดือน  อย่างไรก็ตาม สัญญาทองคำขยับลงเพียงน้อยเมื่อคืนนี้ เนื่องจากนักลงทุนส่วนหนึ่งได้เข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 20 เซนต์ หรือ 0.02% ปิดที่ 1,314.20 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 1.2 เซนต์ หรือ 0.08% ปิดที่ 15.713 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 16.50 ดอลลาร์ หรือ 2.03% ปิดที่ 797.30 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 6.50 ดอลลาร์ หรือ 0.5% ปิดที่ 1358.10 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (7 ก.พ.) หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานปรับตัวลดลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3301 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3203 ดอลลาร์แคนาดา อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.83 เยน จากระดับ 109.98 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 1.0017 ฟรังก์ จากระดับ 1.0025 ฟรังก์

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1351 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1363 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2959 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2937 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7100 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7113 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button