สรุปภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศ

สรุปภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศประจำวันที่ 13 ก.พ. 2562


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 2 เมื่อคืนนี้ (13 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงเชื่อมั่นว่าสหรัฐและจีนจะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าร่วมกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ได้ออกมาส่งสัญญาณว่าการเจรจาของทั้งสองฝ่ายเป็นไปด้วยดี นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยต่อไปในระยะนี้ หลังจากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐทรงตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,543.27 จุด เพิ่มขึ้น 117.51 จุด หรือ +0.46% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,753.03 จุด เพิ่มขึ้น 8.30 จุด หรือ +0.30% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,420.38 จุด เพิ่มขึ้น 5.76 จุด หรือ +0.08%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (13 ก.พ.) โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยผลประกอบการและแนวโน้มธุรกิจเชิงบวกจากบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ของยุโรป ซึ่งรวมถึงแอคโซ โนเบล และไฮเนเก้น นอกจากนี้ ตลาดยังขานรับความหวังเกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน รวมถึงแนวโน้มที่จะไม่เกิดภาวะการปิดหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐ (ชัตดาวน์) รอบ 2 ในสัปดาห์นี้

ดัชนี Stoxx Europe 600 เพิ่มขึ้น 0.6% ปิดที่ 364.97 จุด

ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 11,167.22 จุด เพิ่มขึ้น 41.14 จุดหรือ +0.37% ขณะที่ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,190.84 จุด เพิ่มขึ้น 57.70 จุดหรือ +0.81% และดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,074.27 จุด เพิ่มขึ้น 17.92 จุดหรือ +0.35%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อคืนนี้ (13 ก.พ.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการที่นักลงทุนมีความหวังในการทำข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมถึงแนวโน้มที่จะไม่เกิดภาวะการปิดหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐ (ชัตดาวน์) รอบ 2 ในสัปดาห์นี้

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,190.84 จุด เพิ่มขึ้น 57.70 จุด หรือบวก +0.81%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (13 ก.พ.) ขานรับมุมมองบวกที่ว่า สหรัฐและจีนจะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้า นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงหนุนจากการที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ปรับลดการผลิตในเดือนม.ค.

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 80 เซนต์ หรือ 1.5% ปิดที่ 53.90 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 1.19 ดอลลาร์ หรือ 1.9% ปิดที่ 63.61 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย. 2561

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเพียงเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ (13 ก.พ.) ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ได้สร้างแรงกดดันต่อตลาดทองคำ ขณะที่นักลงทุนยังคงจับตาว่าสหรัฐจะเผชิญกับสถานการณ์ที่หน่วยงานของรัฐบาลถูกปิดทำการ หรือชัตดาวน์ รอบที่สองหรือไม่

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 1.1 ดอลลาร์ หรือ 0.08% ปิดที่ 1,315.10  ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 3.8 เซนต์ หรือ 0.24% ปิดที่ 15.652 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 2.20 ดอลลาร์ หรือ 0.28% ปิดที่ 791.80 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 2.80 ดอลลาร์ หรือ 0.2% ปิดที่ 1372.60 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (13 ก.พ.) โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า สหรัฐและจีนจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้า นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังแข็งค่าขึ้นหลังจากนักลงทุนซึมซับรายงานที่ว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐทรงตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 110.99 เยน จากระดับ 110.50 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 1.0088 ฟรังก์ จากระดับ 1.0062 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3250 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3241 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1269 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1331 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.2850 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2897 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.7094 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7098 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button