KTC รุกแตกไลน์ธุรกิจ “นาโนไฟแนนซ์-พิโกไฟแนนซ์-อี วอลเล็ท” มั่นใจหนุนกำไรปี 63 โตกระโดด

KTC รุกแตกไลน์ธุรกิจ "นาโนไฟแนนซ์-พิโกไฟแนนซ์-อี วอลเล็ท" คาดเปิดบริการในไตรมาส 2/62 มั่นใจหนุนกำไรปี 63 โตกระโดด


นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC คาดว่า กำไรในปี 63 จะเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด โดยบริษัทเตรียมเปิดให้บริการธุรกิจใหม่ 3 ประเภท คือ ธุรกิจสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ และ พิโกไฟแนนซ์ รวมถึงอี-วอลเล็ท ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาคำขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าน่าจะเปิดให้บริการได้ภายในไตรมาส 2/62

สำหรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจจะต้องมีการจัดตั้งบริษัทขึ้นมา โดยพิโกไฟแนนซ์นั้นจะตั้ง 1 บริษัทต่อ 1 จังหวัด ส่วนนาโนไฟแนนซ์ จัดตั้ง 1 บริษัทให้บริการได้ทั่วประเทศ เบื้องต้นจะเน้นที่กรุงเทพมหานครเป็นหลักก่อนขยายไปยังปริมณฑล และจังหวัดอื่นๆ ส่วนธุรกิจอี-วอลเลท ขณะนี้อยู่ระหว่าง ธปท. อนุมัตเช่นเดียวกัน ซึ่งทางบริษัทได้ส่งเรื่องไปพร้อมกับธุรกิจนาโน-พิโกไฟแนนซ์

ส่วนการให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียน อยู่ระหว่างรอการอนุมัตจากผู้ถือหุ้นทั้งทางธนาคารกรุงไทย (KTB) และ นายมงคล ประกิตชัยวัฒนา เนื่องจากถือหุ้นมากกว่า 10% โดยรูปแบบเป็นส่วนหนึ่งของสินเชื่อบุคคล ซึ่งสามารถคิดดอกเบี้ยได้สูงสุด 28%

“ธุรกิจนาโน ถ้าผ่านแบงก์ชาติก็จบ แต่พิโกฯ ต้องไปผ่านคลังด้วย ซึ่งทั้ง 2 ธุรกิจ ทาง KTB ถือหุ้น 24.95% ส่วนอี-วอเลท ก็รอทาง ธปท.ไฟเขียวเช่นกัน ซึ่งเราส่งเรื่องไปพร้อมกัน เบื้องต้นธุรกิจทั้ง 3 อย่างนี้เราอาจจะทำได้ดีหรือไม่ดีก็ได้ เราศึกษาจากคู่แข่งที่เขาทำมาก่อน แก้ไข หรือ ปรับปรุงไปเรื่อยๆ เพราะไม่มีธุรกิจไหนที่เริ่มต้นทำแล้วจะกำไรในทันที ปีนี้อาจยังไม่เห็นเป็นรูปร่าง แต่เชื่อว่าปีหน้ากำไรจะโตก้าวกระโดด ซึ่งปีนี้เรายังมั่นใจว่ากำไรจะโต 10% และก็นิวไฮในทุกๆปี”นายระเฑียร กล่าว

ขณะที่แนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 1/62 คาดว่าจะลดลงจากไตรมาส 4/61 เนื่องจากไตรมาส 4 เป็นไตรมาสที่มีการเติบโตสูงสุดเป็นปกติ ซึ่ง 2 เดือนที่ผ่านมาแม้กำลังซื้อจะกลับมาบ้าง แต่ต้องติดตามในช่วงเลือกตั้งว่าจะเกิดการจับจ่ายใช้สอยที่มากขึ้นหรือไม่ โดยเชื่อว่าไตรมาส 2/62 ผลการดำเนินงานจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง เนื่องจากมีวันหยุดยาวและเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของไทยที่มักมีการใช้จ่ายค่อนข้างมาก

ขณะที่ผลประกอบการทั้งปี 62 บริษัทคาดว่าจะได้รับผลดีจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่จะลดลงจากปีก่อน เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทมีการตั้งสำรองที่สูงมาอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ และการเติบโตของธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน (Credit cost) ประมาณ 6%

นอกจากนั้น บริษัทยังคาดว่าหนี้สูญรับคืนในปีนี้จะมากกว่าปีก่อนที่อยู่ 3,342  ล้านบาท โดยสามารถบันทึกกลับมาเป็นรายได้ให้กับบริษัท ซึ่งการทวงถามหนี้จากลูกหนี้นั้นดำเนินการทั้งจากบริษัทเองและบริษัทรับจ้างติดตามหนี้

นอกจานี้บริษัทมีแผนออกหุ้นกู้ในปีนี้วงเงิน 8,000-10,000 ล้านบาท เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่จะครบกำหนดราว 8,600 ล้านบาท และ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต ซึ่งอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้เดิมเฉลี่ยอยู่ที่ 2.9% พร้อมกันนี้บริษัทยังเปิดวงเงินกับธนาคารพาณิชย์อีกราว 24,000 ล้านบาท

ส่วนการดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารที่นายระเฑียรจะอายุครบ 60 ปีในเดือน พ.ย.62 นี้นั้น การพิจารณาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งดังกล่าวต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท โดยส่วนตัวไม่มีความกังวลกับการทำงาน หรือ การดำเนินธุรกิจของ KTC แต่สิ่งที่กังวล คือ ความล่าช้า เพราะจะกระทบต่อแผนของบริษัทที่วางไว้

 

Back to top button