สรุปภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศ
สรุปภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศประจำวันที่ 19 ก.พ. 2562
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (19 ก.พ.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นกลุ่มที่สามารถต้านทานวัฏจักรทางเศรษฐกิจ (defensive stocks) ซึ่งเป็นหุ้นที่ปลอดภัยและมีปัจจัยพื้นฐานดี เช่นหุ้นกลุ่มสินค้าผู้บริโภคและกลุ่มสาธารณูปโภค นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งเกินคาดของบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่อย่างวอลมาร์ท ขณะที่นักลงทุนจับตาการเจรจาการค้ารอบใหม่ระหว่างสหรัฐและจีนซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงวอชิงตันในสัปดาห์นี้
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,891.32 จุด เพิ่มขึ้น 8.07 จุด หรือ +0.03% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,779.76 จุด เพิ่มขึ้น 4.16 จุด หรือ +0.15% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,486.77 จุด เพิ่มขึ้น 14.36 จุด หรือ +0.19%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบเมื่อคืนนี้ (19 ก.พ.) หลังจากนักลงทุนผิดหวังต่อการเปิดเผยผลประกอบการของธนาคารเอชเอสบีซีและบริษัทบีเอชพี กรุ๊ป ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่กรุงวอชิงตันในสัปดาห์นี้
ดัชนี Stoxx Europe ลบ 0.22% ปิดที่ 368.97 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,160.52 จุด ลดลง 8.01 จุดหรือ -0.15% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,179.17 จุด ลดลง 40.30 จุดหรือ -0.56% ขณะที่ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 11,309.21 จุด เพิ่มขึ้น 10.01 จุดหรือ +0.09%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบเมื่อคืนนี้ (19 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังกับการเปิดเผยผลประกอบการของธนาคารเอชเอสบีซีและบริษัทบีเอชพี ขณะที่มีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) หลังเกิดความขัดแย้งในพรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของอังกฤษ นอกจากนี้ ข่าวการปิดโรงงานฮอนด้าในอังกฤษยังเป็นปัจจัยกดดันตลาดด้วย
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,179.17 จุด ลดลง 40.30 จุด หรือ -0.56%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (19 ก.พ.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ปรับลดกำลังการผลิต รวมทั้งการคาดการณ์ที่ว่า การเจรจาการค้ารอบใหม่ระหว่างสหรัฐและจีนในสัปดาห์นี้ จะมีความคืบหน้า
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 50 เซนต์ หรือ 0.9% ปิดที่ 56.09 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 20 เซนต์ หรือ 0.09% ปิดที่ 66.45 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสุงสุดในรอบ 10 เดือนเมื่อคืนนี้ (19 ก.พ.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนจับตาผลการเจรจาการค้ารอบใหม่ระหว่างสหรัฐและจีนในสัปดาห์นี้
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 22.70 ดอลลาร์ หรือ 1.72% ปิดที่ 1,344.80 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 22.40 เซนต์ หรือ 1.42% ปิดที่ 15.967 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 14.10 ดอลลาร์ หรือ 1.75% ปิดที่ 821.00 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. พุ่งขึ้น 46.70 ดอลลาร์ หรือ 3.3% ปิดที่ 1,453.90 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (19 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายดอลลาร์สหรัฐในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย และเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งรวมถึงสกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย หลังจากการเจรจาการค้ารอบใหม่ระหว่างสหรัฐและจีนส่งสัญญาณในด้านบวก ขณะที่เงินเยนอ่อนค่าลงหลังจากผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ส่งสัญญาณเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1340 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1312 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.3067 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2927 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7169 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7130 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 110.65 เยน จากระดับ 110.58 เยน แต่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 1.0007 ฟรังก์ จากระดับ 1.0041 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3212 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3237 ดอลลาร์แคนาดา