สรุปภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศ

สรุปภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศประจำวันที่ 20 ก.พ. 2562


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (20 ก.พ.) หลังจากรายงานการประชุมประจำเดือนม.ค.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่เห็นพ้องกับแนวทางการใช้ความอดทนต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งต่อไป เพื่อรับมือกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากการที่นักลงทุนมีความหวังว่า การเจรจาการค้ารอบใหม่ระหว่างสหรัฐและจีนในสัปดาห์นี้จะมีความคืบหน้า

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,954.44 จุด เพิ่มขึ้น 63.12 จุด หรือ +0.24% ขณะที่ดัชนี S&P500 ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดที่ 2,784.70 จุด เพิ่มขึ้น 4.94 จุด หรือ +0.18% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,489.07 จุด เพิ่มขึ้น 2.30 จุด หรือ +0.03%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (20 ก.พ.)  โดยได้แรงหนุนจากการประกาศซื้อคืนหุ้นของธนาคารลอยด์ส แบงกิ้ง กรุ๊ป และบริษัทเกล็นคอร์  ขณะที่รายงานข่าวที่ว่า สำนักงานควบคุมตลาดและการแข่งขันของอังกฤษอาจปฏิเสธแผนควบรวมกิจการระหว่างเจ เซนส์บิวรี และเอสด้า กรุ๊ปนั้น เป็นปัจจัยลบต่อตลาด

ดัชนี Stoxx Europe บวก 0.67% ปิดที่ 371.46 จุด

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,195.95 จุด เพิ่มขึ้น 35.43 จุดหรือ +0.69% ขณะที่ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,228.62 จุด เพิ่มขึ้น 49.45 จุดหรือ +0.69% และดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 11,401.97 จุด เพิ่มขึ้น 92.76 จุดหรือ +0.82%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อคืนนี้ (20 ก.พ.)  เนื่องจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคารและกลุ่มเหมืองแร่ได้ช่วยหนุนตลาด แต่หุ้นเจ เซนส์บิวรีร่วงลง หลังสำนักงานควบคุมตลาดและการแข่งขันของอังกฤษระบุว่า อาจปฏิเสธแผนควบรวมกิจการระหว่างเจ เซนส์บิวรีและบริษัทเอสด้า กรุ๊ป

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,228.62 จุด เพิ่มขึ้น 49.45 จุด หรือ +0.69%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (20 ก.พ.) โดยตลาดยังคงได้รับแรงหนุนจากรายงานการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย และกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ซึ่งปัจจัยดังกล่าวช่วยหนุนสัญญาน้ำมันดิบปิดในแดนบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 6 แม้ตลาดได้รับแรงกดดันในระหว่างวันจากรายงานคาดการณ์ที่ว่า การผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (shale oil) ในสหรัฐจะพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนหน้า

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 83 เซนต์ หรือ 1.5% ปิดที่ 56.92 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 12 พ.ย. 2561

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 63 เซนต์ หรือประมาณ 1% ปิดที่ 67.08 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดในแดนบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 3 เมื่อคืนนี้ (20 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนมีมุมมองที่เป็นบวกว่า ความคืบหน้าในการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะช่วยให้ความต้องการทองคำจากจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ การอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนสัญญาทองคำด้วยเช่นกัน

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 3.10 ดอลลาร์ หรือ 0.23% ปิดที่ 1,347.90 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 21.00 เซนต์ หรือ 1.32% ปิดที่ 16.177 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 13.20 ดอลลาร์ หรือ 1.61% ปิดที่ 834.20 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 8.20 ดอลลาร์ หรือ 0.6% 1,462.10 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (20 ก.พ.) เนื่องจากมุมมองบวกที่ว่าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะมีความคืบหน้านั้น ยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนเดินหน้าเทขายดอลลาร์สหรัฐในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย และเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่นสกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 1.0002 ฟรังก์ จากระดับ 1.0007 ฟรังก์ และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3154 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3212 ดอลลาร์แคนาดา อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 110.82 เยน จากระดับ 110.65 เยน

ยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1351 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1340 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.3061 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3067 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7173 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7169 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button