ครม.ไฟเขียวรถไฟสายสีแดงอ่อน “ตลิ่งชัน-ศิริราช” วงเงิน 6.65 พันลบ.

ครม.ไฟเขียวรถไฟสายสีแดงอ่อนช่วง “ตลิ่งชัน-ศิริราช” วงเงิน 6.65 พันลบ.


นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ในกรอบวงเงิน 6,645.03 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) ตามข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมจะกำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี แต่กระทรวงคมนาคมยืนยันว่าจะสามารถเปิดให้บริการในปี 65

โดยโครงการดังกล่าวเป็นส่วนต่อขยายของรถไฟชานเมืองสายสีแดงทางฝั่งทิศตะวันตกของกรุงเทพมหานครที่จะเชื่อมต่อการเดินทางจากสถานีตลิ่งชันไปยังบริเวณโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเส้นทางรถไฟของช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช จะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ที่สถานีจรัญสนิทวงศ์ และเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก ที่สถานีศิริราช ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถเดินทางเข้าออกพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น

“สายสีแดงอ่อน จะเป็นรถไฟชานเมือง เป็นรถไฟฟ้าที่มีค่าก่อสร้างถูกกว่ารถไฟฟ้าในเมือง หรือ BTS จุดเด่นคือ รางสามารถใช้ร่วมกับรถไฟธรรมดาได้ มีระยะทาง 4.3 กม. รางขนาด 1 เมตร เป็นระบบทางคู่ ความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. แต่วิ่งจริง 120 กม./ชม. คาดเปิดให้บริการได้ในปี 65 ไม่ต้องเวนคืนที่ดิน เพราะอยู่ในเขตของการรถไฟทั้งหมด” นายณัฐพร กล่าว

นายณัฐพร กล่าวว่า กรอบวงเงินในโครงการดังกล่าวจำนวน 6,645.03 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดการประกวดราคา จำนวน 10 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง จำนวน 177.73 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ (ICE) จำนวน 40.24 ล้านบาท, ค่างานโยธาและระบบราง จำนวน 2,706.56 ล้านบาท, งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล จำนวน 1,997.33 ล้านบาท และงานจัดหาตู้รถไฟฟ้า จำนวน 1,713.17 ล้านบาท

ทั้งนี้ รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 4.3 กม. ประกอบด้วย 3 สถานี คือ 1. สถานีตลาดน้ำตลิ่งชัน 2.สถานีบางขุนนนท์ และ 3.สถานีธนบุรี-ศิริราช ซึ่งสถานีนี้จะเชื่อมต่อกับอาคารของ รพ.ศิริราช ทำให้ประชาชนผู้เข้ามารับบริการที่โรงพยาบาลจะได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางมากยิ่งขึ้น

ส่วนแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในการดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟเส้นทางดังกล่าว ให้ รฟท. กู้เงินเพื่อดำเนินโครงการตาม พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 39 (4) เพื่อเป็นค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง ค่าจ้างที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ (ICE) ค่างานโยธาและระบบราง งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล งานจัดหาตู้รถไฟฟ้าและค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายในกรอบวงเงิน 6,635.03 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ในประเทศที่เหมาะสม วิธีการให้กู้ต่อ และค้ำประกันเงินกู้ หรือให้กู้ตามแผนการดำเนินงาน และแผนการใช้จ่ายเงิน

พร้อมกันนี้ ให้ รฟท. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นงบชำระหนี้รายปีเฉพาะในส่วนค่าโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลรับภาระ ได้แก่ ค่างานโยธาและระบบราง ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง ค่าจ้างที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ (ICE) และค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 2,924.53 ล้านบาท ส่วนค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และงานจัดหาตู้รถไฟฟ้า จำนวน 3,710.50 ล้านบาท เห็นควรให้ รฟท.เป็นผู้รับภาระ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการรับภาระค่าใช้จ่ายของโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 ก.ค.59 ส่วนค่าจ้างที่ปรึกษาจัดการประกวดราคา จำนวน 10 ล้านบาท ให้ รฟท. ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงการดังกล่าวยังมิได้รับการบรรจุไว้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ดังนั้น จึงเห็นสมควรให้ รฟท.ดำเนินการขอบรรจุแผนการกู้เงินไว้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ตามนัย พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2549 ระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2561 และการดำเนินการดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง กำหนดสัดส่วนต่าง ๆ เพื่อเป็นกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 อย่างเคร่งครัดด้วย ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

นายณัฐพร กล่าวด้วยว่า กระทรวงการคลังได้มีข้อสังเกตไปถึง รฟท.ในการจัดซื้อตู้รถไฟฟ้าอีก 4 ขบวน วงเงิน 1,713 ล้านบาทว่า ขอให้ รฟท.ไปพิจารณาว่า ในเมื่อรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายจากเส้นทางรถไฟสายสีแดงอ่อน และมีการเดินรถที่ต่อเนื่องกันอยู่แล้ว อาจไม่จำเป็นต้องจัดซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 4 ขบวน ซึ่งจะสามารถลดงบประมาณในโครงการลงได้กว่า 1,700 ล้านบาท

Back to top button