กสทช.ไฟเขียวเรียกคืน 2600 MHz จาก MCOT-ทัพบก-ทัพไทย เดดไลน์ 45 วัน! เพื่อใช้ประมูล 5G
กสทช.ไฟเขียวเรียกคืน 2600 MHz จาก MCOT-ทัพบก-ทัพไทย เดดไลน์ 45 วัน! เพื่อใช้ประมูล 5G
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (5 มี.ค.62) ที่ประชุม กสทช. เห็นชอบการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) จำนวนรวม 190 MHz โดยเรียกคืนจากบมจ. อสมท (MCOT) จำนวน 154 MHz กรมการทหารสื่อสาร กองทัพบก และกรมการสื่อสารทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย รวม 2 หน่วยงานอีก 12 MHz ที่เหลือเป็นคลื่นว่างที่ไม่มีการใช้งาน เพื่อนำมาจัดสรรใหม่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล เพื่อให้เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ กสทช. ได้กำหนดวันสิ้นสุดการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เป็น 45 วันนับจากวันที่ กสทช. มีมติให้เรียกคืนคลื่นความถี่ พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไขการยุติการใช้คลื่นความถี่ที่เรียกคืน โดยในระหว่างดำเนินการให้สามารถใช้คลื่นความถี่ที่เรียกคืนดังกล่าวไปพลางก่อนได้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 120 วันนับจากที่ กสทช. มีมติให้เรียกคืนคลื่นความถี่
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติอนุมัติสำรองค่าใช้จ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่าย รายการเงินงบกลางของสำนักงาน กสทช. ประจำปี พ.ศ. 2562 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจ้างที่ปรึกษาเพื่อประเมินมูลค่าการเรียกคืนคลื่นความถี่ และการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนสำหรับผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500-2690 เมกะเฮิรตซ์ การประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ในการนำมาใช้ในกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลในย่านความถี่ดังกล่าว จำนวน 3 ชุด รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 7,500,000 บาท และเมื่อมีการประมูลคลื่นความถี่ 2500-2690 เมกะเฮิรตซ์ เสร็จสิ้นแล้ว ให้ดำเนินการหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจ้างที่ปรึกษาดังกล่าวจากเงินรายได้ที่ได้รับจากการประมูล
นายฐากร กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรมในพื้นที่กำกับดูแลเฉพาะ (Regulatory Sandbox) หรือที่เรียกว่า ประกาศ Sandbox และให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยประกาศฉบับนี้เป็นไปเพื่อการสนับสนุนการทดลอง และทดสอบ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเทคโนโลยี 5G โดย กสทช. จะอนุญาตให้ใช้ความถี่ในพื้นที่เฉพาะ เป็นกรณีพิเศษโดยไม่ใช้กฎระเบียบปกติ เพื่อให้มีการทดสอบนวัตกรรมใหม่ที่ใช้คลื่นความถี่ในพื้นที่นั้นๆ แต่พื้นที่ที่เราเรียกว่า Sandbox นี้ จะจำกัด อาทิเช่น พื้นที่ที่เป็นสถานศึกษาที่มีการศึกษาแบบสหวิทยาการ ตัวอย่างเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เนื่องจากประกาศที่มีอยู่เดิมมีข้อจำกัดมาก เมื่อประกาศฉบับนี้ออกมากรณีนำเข้านำออก เพื่อทดลองทดสอบจะได้รับการยกเว้นเพื่อเอื้อต่อการทดลองทดสอบ จะได้ไม่ต้องมาขออนุญาตมาก หน่วยงานต่างๆ รายย่อย สามารถขอใช้ความถี่เพื่อการทดลองทดสอบได้ไม่ใช่เฉพาะโอเปอเรเตอร์รายใหญ่เท่านั้น รวมถึงภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องก็สามารถขอใช้คลื่นนี้ได้ เช่น เอสเอ็มอีรายย่อย หรือนักพัฒนารายย่อยก็สามารถขอใช้คลื่นได้ อุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างอุตสาหกรรมขนส่ง การแพทย์ ก็สามารถขอใช้คลื่นได้ เอื้อเรื่องค่าใช้จ่ายไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากจ่ายแค่ค่าธรรมเนียมการขอใช้คลื่นแค่ 5,000 บาททุกราย การขอใบอนุญาต และขยายเวลาในการใช้งานคลื่นเพื่อทดลองทดสอบจากเดิมอนุญาตแค่ 270 วันเป็น 720 วัน หรือ 2 ปีโดยประมาณ
นอกจากนั้น ที่ประชุม กสทช. ยังได้เห็นชอบกรอบระยะเวลาดำเนินการและกรอบวงเงินงบประมาณการดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ทดลองทดสอบ 5G ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 68,000,000 บาท เพื่อเป็นการนำร่องในการทดลองทดสอบใช้เทคโนโลยี 5G โดยจัดตั้งศูนย์ทดลองทดสอบและติดตั้งโครงข่าย 5G บนพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งหมด ซึ่งรวมถึงสยามสแควร์ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ด้วย โดยเป็นการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน กทปส. ซึ่งเรื่องนี้จะส่งให้บอร์ดกองทุน กสทช. พิจารณาต่อไป
นายฐากร กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม กสทช. ยังมีมติเห็นชอบให้เรียกเก็บเงินรายได้ขั้นต่ำจากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 850 MHz ในช่วงระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2561 จนถึงวันที่ 15 ธ.ค. 2561 ของบมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ตามจำนวนเงินที่บริษัทฯ รายงานในรายการคำนวณค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 603,806,875 บาท โดยแบ่งเป็นเงินรายได้ในช่วงระยะเวลา 16 ก.ย. 2561 ถึง 31 ต.ค. 2561 เป็นเงิน 329,659,607 บาท และเป็นเงินรายได้ช่วง 1 พ.ย. 2561 ถึง 15 ธ.ค. 2561 เป็นเงิน 274,174,268 บาท
ทั้งนี้ ยังได้มอบหมายให้คณะทำงานตรวจสอบเงินรายได้แผ่นดินฯ ดำเนินการตรวจสอบจำนวนเงินรายได้ค่าใช้จ่าย และดอกผลจากการให้บริการในช่วงคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวฯ พ.ศ. 2556 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 โดยเงินรายได้จากการให้บริการที่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละของส่วนแบ่งรายได้ที่บริษัทฯ เคยนำส่งภายใต้สัญญาสัมปทาน ณ วันสุดท้ายก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน หากมีเงินนำส่งรายได้ที่ต้องนำส่งเพิ่มเติมให้เรียกเก็บเงินส่วนต่างเพิ่มเติม และนำเสนอผลการพิจารณาของคณะทำงานตรวจสอบเงินรายได้แผ่นดินต่อ กสทช. พิจารณาต่อไป
เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. ยังได้เห็นชอบแนวทางในการนำค่าใช้จ่าย ในส่วนของค่าเช่าท่อร้อยสายใต้ดิน และค่าดำเนินการนำสายสื่อสารลงดิน มาหักลดหย่อนจากรายได้ที่ต้องจัดสรรเพื่อนำไปใช้ในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคม (USO) (กรณีค่าใช้จ่ายในการนำสายสื่อสารลงดิน) ได้โดยแต่ละบริษัทสามารถหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 200 ล้านบาทต่อปี ต่อหนึ่งบริษัท และการหักลดหย่อนดังกล่าวต้องดำเนินการตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บรายได้เพื่อนำไปใช้ในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบกิจการสื่อสารนำสายลงดินและจัดระเบียบสายสื่อสารตามนโยบายรัฐบาล