สรุปภาวะตลาดต่างประเทศวานนี้

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 6 มี.ค. 2562


ดัชนีดาวโจนส์ปิดลบเมื่อคืนนี้ (5 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนชะลอการซื้อขายเพื่อรอความชัดเจนเกี่ยวกับการทำข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐและจีน อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ และข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสของสหรัฐ เป็นปัจจัยที่ช่วยลดช่วงลบของตลาด

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,806.63 จุด ลดลง 13.02 จุด หรือ -0.05% ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,576.36 จุด ลดลง 1.21 จุด หรือ -0.02% และดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,789.65 จุด ลดลง 3.16 จุด หรือ -0.11%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (5 มี.ค.) แต่หุ้นกลุ่มธนาคารเผชิญแรงกดดันจากข่าวอื้อฉาวครั้งใหม่เกี่ยวกับการฟอกเงิน ขณะที่นักลงทุนยังคงจับตาภาวะเศรษฐกิจจีน และตลาดหุ้นสหรัฐที่อ่อนแรงลง

ดัชนี Stoxx Europe บวก 0.15% ปิดที่ 375.64 จุด

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,297.52 จุด เพิ่มขึ้น 10.95 จุด หรือ +0.21% และ ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 11,620.74 จุด เพิ่มขึ้น 28.08 จุด หรือ +0.24% ขณะที่ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่  7,183.43 จุด เพิ่มขึ้น 49.04 จุด หรือ +0.69%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อคืนนี้ (5 มี.ค.)  เนื่องจากนักลงทุนขานรับจีนกำหนดเป้าหมายใหม่ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่การพุ่งขึ้นของหุ้นโวดาโฟนและการอ่อนค่าของเงินปอนด์ช่วยหนุนตลาดด้วย

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,183.43 จุด เพิ่มขึ้น 49.04 จุด หรือ +0.69%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (5 มี.ค.) หลังจากรัฐบาลจีนได้ประกาศลดเป้าหมายการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สำหรับปี 2562 ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้พลังงาน อย่างไรก็ตาม สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปิดขยับลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากตลาดยังคงได้รับปัจจัยหนุนจากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก)

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 3 เซนต์ หรือ 0.05% ปิดที่ 56.56 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 19 เซนต์ หรือ 0.3% ปิดที่ 65.86 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 7 เมื่อคืนนี้ (5 มี.ค.) โดยดอลลาร์ที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องยังคงเป็นปัจจัยกดดันตลาด นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐยังส่งผลให้นักลงทุนลดการถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 2.80 ดอลลาร์ หรือ 0.22% ปิดที่ 1,284.70  ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค.ปิดทรงตัวที่ 15.105 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 90 เซนต์ หรือ 0.11% ปิดที่ 838.00 ดอลลาร์/อนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 19.20 ดอลลาร์ หรือ 1.3% ปิดที่ 1465.90 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (5 มี.ค.) ขานรับข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนก.พ.ที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 111.89 เยน จากระดับ 111.74 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 1.0045 ฟรังก์ จากระดับ 0.9996 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3345 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3315 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1302 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1330 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์ทรงตัวที่ระดับ 1.3170 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7085 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7086 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button