“สภาอุตฯ” วอนพรรคการเมืองยกเลิกนโยบาย ”ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” ชี้ผลักภาระให้ภาคเอกชน

“สภาอุตฯ” วอนพรรคการเมืองยกเลิกนโยบาย ”ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” ชี้ผลักภาระให้ภาคเอกชน


สืบเนื่องจากกรณีพรรคการเมืองหลายพรรคได้มีการชูนโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. 62

โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวระหว่างเวทีดีเบตทิศทางอุตสาหกรรมไทย ว่านโยบายพรรคจะเดินหน้าปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมสู่เทคโนโลยีอนาคต เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า ควบคู่กับอุตสาหกรรมสีเขียว และเสนอนโยบายประกันรายได้ลูกจ้างอยู่ได้ นายจ้างไม่เดือดร้อน จะให้คูปองและนโยบายภาษีจูงใจผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมจ้างงานนักอาชีวะจบใหม่

ขณะเดียวกัน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ต้องการปรับระบบราชการ ปราบคอร์รัปชันและการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อโรงงาน รวมถึงวางยุทธศาสตร์เจรจาการค้าระหว่างประเทศ พร้อมพัฒนาทักษะแรงงานมีฝีมือและเสนอปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทและขึ้นเงินเดือน 18,000 บาท สำหรับปริญญาตรี

ด้านนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เสนอว่าแรงงานต้องเพิ่มทักษะรองรับเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มค่าแรงแบบไต่ระดับจาก 325 บาทไปสู่ 425 บาทภายใน 3 ปี รวมทั้งผลักดันการยกเลิกภาษีผู้ประกอบการออนไลน์ รวมทั้งนักศึกษาจบใหม่ไม่ต้องเสียภาษี 5 ปีแรก

ส่วนนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ตัวแทนจากพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า จะตั้งคณะทำงานศึกษาวิจัยค้นคว้าเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูป เพื่อสร้างให้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกได้ภายใน 10 ปี ข้างหน้า และจะสร้างธุรกิจใหม่ทั้งรถเมล์และรถไฟฟ้าที่ภาคอีสาน ทำให้เกิดการจ้างงาน เกิดการกระจายรายได้

 

ล่าสุดวานนี้ (18 มี.ค.62) นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เชิญแกนนำพรรคการเมืองหลักๆ พร้อมเสนอว่า อยากให้รัฐบาลยกเลิกการบังคับใช้มาตรการค่าแรงขั้นต่ำ แล้วปรับเป็นอัตราค่าจ้างแบบลอยตัวตามทักษะของแรงงาน เนื่องจากทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งนโยบายเรื่องปรับค่าแรงขั้นต่ำจะถูกนำมาใช้หาเสียง ทำให้ภาระตกมาอยู่ที่ผู้ประกอบการ ซึ่งหากพิจารณาแล้ว เรื่องค่าตอบแทนแรงงานควรขึ้นอยู่ดีมานต์และซัพพลายในภาคแรงงาน รัฐบาลมีหน้าที่ช่วยทำเศรษฐกิจให้ดีขึ้นเพราะจะทำให้การจ้างงานมีความมั่นคง

โดยภาคเอกชนมองว่ารัฐบาลหรือพรรคการเมืองไม่ควรนำเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงมาใช้หาเสียงเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นการผลักภาระให้ภาคเอกชน มุ่งนำเงินภาคเอกชนไปใช้ เพื่อให้ได้รับคะแนนเสียง ซึ่งมองว่าสิ่งที่ควรทำคือมุ่งทำเศรษฐกิจให้ดีเมื่อเศรษฐกิจดีภาคเอกชนขายของได้จะมีการขึ้นค่าแรงตามมาก เสียภาษีมากขึ้น เมื่อมีภาษีมากขึ้น ก็ให้นำเงินภาษีมาใช้ได้มากขึ้น

ส่วนประเด็นเงินเดือนปริญญาตรีขั้นต่ำ 2 หมื่นบาท มองว่าควรเป็นไปตามคุณภาพ ฝีมือแรงงาน รัฐบาลควรแก้ไขให้แรงงานที่จบใหม่ตรงตามความต้องการภาคเอกชน สามารถทำงานได้เลยไม่ต้องมาฝึกงาน ทดลองงาน หากแรงงานมีฝีมือภาคเอกชนพร้อมปรับเงินเดือนให้สูงขึ้น

Back to top button