“ธนาธร”มั่นใจโอนทรัพย์สิน 5 พันลบ.เข้า Blind trust โปร่งใส-เชื่อ”บลจ.ภัทร”เป็นมืออาชีพ
“ธนาธร”มั่นใจโอนทรัพย์สิน 5 พันลบ.เข้า Blind trust โปร่งใส-ความเป็นมืออาชีพบลจ.ภัทร
สืบเนื่องจากกรณีที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้แถลงข่าววานนี้ (18 มี.ค.62) ถึงการโอนทรัพย์สินของตนที่ถือหุ้นธุรกิจเครือซัมมิทมูลค่า 5 พันล้านบาทว่าจะใช้แนวทาง Blind trust คือโอนทรัพย์สินไปให้ trust หรือ กองทุน เป็นผู้ดูแล ซึ่งส่วนใหญ่จะให้ บริษัท phatara asset management ทั้งหมดคือหุ้นในบริษัทมหาชน ส่วน บ้าน รถ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันเก็บไว้ในนามส่วนตัว และยังบอกอีกว่า วิธีการนี้จะเป็นมาตรฐานใหม่ไม่เคยมีนักการเมืองคนไหนใช้ private fund มาก่อน เป็นนวัตกรรมใหม่ ยกระดับมาตรฐานแสดงความจริงใจให้เกิดต่อสาธารณะ
ต่อมา นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าวว่า “ยิ่งมองไม่เห็น ยิ่งตรวจสอบไม่ได้” จากการแถลงข่าวเรื่อง ‘Blind Trust’ ของคุณธนาธร ทำให้มีสื่อบางรายได้ทักท้วง สรุปความได้ว่า การอ้างว่านี่เป็นครั้งแรกที่มีการทำเช่นนี้ เป็นการอ้างไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เนื่องจากเคยมีนักการเมืองอีกหลายท่าน รวมทั้งผมด้วย เคยทำเช่นนี้มาก่อนแล้ว.. ผมขอชี้แจงตามนี้ว่า
“Blind Trust” ยังไม่มีจริงในประเทศไทย เพราะยังไม่มีกฎหมายรองรับ เพราะฉะนั้นที่คุณธนาธรลงนามไปนั้น ไม่ใช่ Blind Trust และไม่มีใครเคยทำได้มาก่อน
คุณธนาธรได้โอนทรัพย์สินให้สถาบันการเงินดูแล อันนี้หลายคนน่าจะเคยทำเหมือนกัน ผมก็เคยและวันนี้ก็ยังมีอยู่ โดยที่ผมก็ได้ลงนามสัญญาให้เขาบริหารโดยอิสระเช่นเดียวกัน
ผมเองเคยมี Trust อยู่ที่ต่างประเทศ และรายงานรายละเอียดทั้งหมดกับ ปปช. ตามกฎหมายว่าด้วยเรื่องการรายงานบัญชีทรัพย์สิน
แต่หลายปีมาแล้วผมได้ตัดสินใจทำสวนทางกับที่คุณธนาธรพยายามที่จะทำ คือผมยกเลิก Trust ที่มีอยู่ เพราะผมคิดว่าความโปร่งใสสำคัญกว่า ผมคิดว่าประเด็นที่น่ากังวลที่สุดในสิ่งที่คุณธนาธรได้ประกาศวันนี้ ไม่ใช่ว่าท่านเป็นคนแรกหรือไม่ แต่ที่ท่านบอกว่าทรัพย์สินที่ท่านโอนไปนี้จะ “มองไม่เห็น” เพราะเมื่อทุกคนบอดสนิทกับข้อเท็จจริงว่า ท่านมีทรัพย์สินอะไรบ้าง การตรวจสอบเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนจะเกิดขึ้นไม่ได้
จริงๆ แล้ววิธีที่ชัดเจนที่สุดที่จะปลดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนคือการขายขาด (แต่อย่าขายให้ Nominee กันอีกนะครับ) แต่หากไม่ขาย ผมว่าที่ดีที่สุดคือเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะว่า เรามีทรัพย์สินอะไรบ้าง เพื่อให้มีการตรวจสอบได้ และที่ไม่ควรคือการโอนเข้าไปในที่ๆ “มองไม่เห็น”
ทั้งนี้จากการออกมาตอบโต้ของ “นายกรณ์ จาติกวณิช” ว่าการโอนทรัพย์สินดังกล่าวอาจไม่โปร่งใสนั้นได้เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์แพร่หลายว่า แนวความคิด และข้อความของนายกรณ์ อาจบิดเบือนความหมายของ blind trust
โดย “สฤณี อาชวานันทกุล” นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ นักเขียน นักแปลชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊ก Sarinee Achavanuntakul – สฤณี อาชวานันทกุล โดยแสดงความคิดเห็นต่อโพสต์ของ กรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่อกรณี blind trust คุณธนาธร มีใจความว่า
“ในฐานะนักการเงิน คุณกรณ์ย่อมเข้าใจดีว่า blind trust คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร ทำงานแบบไหนในต่างประเทศ การนำคำว่า “มองไม่เห็น” มาเล่น บิดคำให้กลายเป็นเท่ากับหมายความว่า “ตรวจสอบไม่ได้” จึงไม่ถูกต้อง เพราะ blind ในคำว่า blind trust ไม่ใช่แปลว่าตรวจสอบไม่ได้”
ขณะเดียวกัน มีการตอบโต้ว่ากรณีของการโอนทรัพย์สินให้บลจ.บริหาร หรือ blind trust นั้น ไม่เหมือนกับความไม่โปร่งใสกับกรณีของ “ปานามา เปเปอร์” ซึ่งมีผู้นำประเทศ นักการเมือง นิติบุคคล และคนไทยร่วมอยู่ด้วย โดยขณะนั้นสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.)ได้ตรวจสอบแล้วปรากฏว่ามีชื่อคนไทย 21 รายชื่อและตรวจพบได้เพียง 16 รายชื่อคนไทยที่เกี่ยวข้องซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อดังกล่าวได้
นอกจากนี้ หากมองการบริการงาน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด บริษัทประกอบธุรกิจบริหารจัดการกองทุนทุกประเภทตามที่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงาน คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีผลงานการบริหารทรัพยสินขนาดใหญ่ให้กับบริษัทชั้นนำของไทย และด้วยหลักการทำงานและยึดหลักธรรมภิบาลจึงมองว่าบริษัทนี้มีความโปร่งใสและน่าเชื่อถืออย่างมาก
อนึ่งนายกรณ์ มีประวัติการทำงานอยู่ในแวดวงบริษัทหลักทรัพย์ โดยอยู่ในตำแหน่งกรรมการสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ อีกทั้งกรรมการสมาคมบริษัทหลักทรัพย์โดยการที่นายกรณ์ ออกมาวิจารณ์กรณีของนายธนาธร เป็นที่ตั้งข้อสังเกตว่านายกรณ์ นั้น ไม่เชื่อมั่นต่อหลักการทำงานของบริษัทหลักทรัพย์ที่ตนเคยบริหารงานอยู่