บอร์ด AOT สั่งศึกษาแยกประมูลดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ-สนามบินภูมิภาค 3 แห่ง คาดรู้ผล1-2 สัปดาห์
บอร์ด AOT สั่งศึกษาแยกประมูลดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ-สนามบินภูมิภาค 3 แห่ง คาดรู้ผล1-2 สัปดาห์
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทวานนี้มอบหมายให้ฝ่ายบริหารศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประมูลให้สัญญาสัมปทานร้านค้าปลอดภาษีอากร (ดิวตี้ฟรี)
โดยแยกออกเป็นสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ สัญญาสัปทานดิวตี้ฟรีในท่าอากาศยานภูมิภาค 3 แห่ง คือ ภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่ จากเดิมที่จะเปิดประมูลสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีรวม 4 สนามบิน คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 1-2 สัปดาห์
“บอร์ดให้ฝ่ายบริหารศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติม ผมก็บอกว่าทำได้แต่ไม่ดี ไม่หล่อ จะได้แบรนด์ไม่ค่อยดี เพราะดิวตี้ฟรีภูมิภาคมียอดขายน้อย โดยภูเก็ตมียอดขาย 10 ล้านบาท ถ้าจะเอานาฬิกาโรเล็กซ์ 1 ล้านบาทมาวางขายก็ไม่มีใครเก็บของ ที่เรารวม 4 สนามบินเพราะอยากให้คนชนะมีอำนาจต่อรองสินค้าแบรนด์เนม” นายนิตินัย
โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 มี.ค.62 AOT ประกาศชะลอการเปิดขายซองเอกสารงานให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ รวมถึงการให้สิทธิประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ออกไปก่อน จากกำหนดการเดิมที่จะเปิดขายซองระหว่างวันที่ 19 มี.ค.-1 เม.ย.62 เพราะต้องการตอบข้อสงสัยของสังคมก่อนเดินหน้าประมูลต่อ
อนึ่งกลุ่มคิงเพาเวอร์ เป็นผู้รับสัมปทานร้านดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ โดยทั้งหมดจะหมดอายุสัญญาสัมปทานในเดือน ก.ย. 63
นายนิตินัย กล่าวยืนยันหลังสมาคมผู้ค้าปลีกไทยออกมาสนับสนุนให้ประมูลดิวตี้ฟรีตามหมวดหมู่สินค้า (by category)ว่า ไม่สามารถประมูลดิวตี้ฟรีตามหมวดสินค้าได้ เพราะการกระจายตัวของผู้โดยสารขึ้นกับเครื่องบินที่มีความไม่แน่นอน และจะเป็นปัญหาการบริหารจัดการพื้นที่ของ AOT และส่งผลต่อผู้ประกอบการร้านค้าดิวตี้ฟรีด้วย
ที่ผ่านมาผู้ประกอบการร้านค้าดิวตี้ฟรีในสนามบินชางงี ก็เจ๊งเป็นย่อมๆ เพราะขึ้นกับจำนวนผู้โดยสาร ฉะนั้นไม่ต้องการให้ผู้ประกอบการเกิดความเสี่ยง และเกิดขาดทุน ซึ่ง AOT ก็ต้องรับผิดชอบด้วยโดยที่ผ่านมาบริษัทถูกฟ้องร้องมาแล้ว
ส่วนประเด็นเรื่องอัตราผลตอบแทน ก็ยืนยันให้ผู้ประกอบการเสนอจ่ายอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำ ไม่ต้องการผลตอบแทนสูงมาก เพราะอัตราผลตอบแทนสูง 30-40% ซึ่งจะเป็นความล้มเหลว และยอดขายต่ำ ทำให้ตัวเลขผลตอบแทนสูง
สำหรับสัญญาสัมปทานที่ให้ระยะเวลา 10 ปี เพราะจากผลการศึกษาของที่ปรึกษายืนยันว่า ระยะเวลา 5 ปี ไม่ก่อให้เกิดการคุ้มทุน จะคุ้มทุนเป็นปีที่ 7 ให้เวลาบริษัททำกำไร 3 ปี และกำหนดให้กิจการทำกำไรได้ไม่เกิน 20%
นายนิตินัย กล่าวว่า ประเด็นที่กิจการดิวตี้ฟรีและกิจการพื้นที่เชิงพาณิชย์เข้าข่ายพ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 หรือไม่นั้น บริษัทพร้อมทำตามกฎ วันนี้ที่บริษัทออกประมูลเพราะบริษัทเข้าใจว่ากิจการดังกล่าวไม่เข้าข่าย แต่หากผู้มีอำนาจ ชี้ว่า 2 กิจการนี้เข้าข่ายพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และให้เข้ากระบวนการ PPP ก็พร้อมปฏิบัติตาม และวันนี้นายนิตินัยจะเข้าชี้แจงกับคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เกี่ยวกับการประมูลดิวตี้ฟรีสัญญาเดียว
ส่วนโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 คาดว่าจะส่งเรื่องกลับไปให้กระทรวงคมนาคมในกลางเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งจะรวมกับโครงการส่วนต่อขยายฝั่งตะวันออกของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 และโครงการรันเวย์ที่ 3 หลังจากที่เคยส่งเข้าไปแล้วดึงโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ออกมาพิจารณาใหม่ เพื่อนำส่งต่อไปยังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)พิจารณาต่อไป