DTAC ยื่นขอทดสอบ 5G คาดกสทช.ไฟเขียวพ.ค.นี้ พร้อมลุยดำเนินการไตรมาส 3/62
DTAC ยื่นขอทดสอบ 5G คาดกสทช.ไฟเขียวพ.ค.นี้ พร้อมลุยดำเนินการไตรมาส 3/62
นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ยื่นขออนุญาตทดสอบ 5G ต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยได้ขอไปทั้งสิ้นจำนวน 6 คลื่นความถี่ ได้แก่ 26 GHz, 28 GHz, 3.5 GHz, 2300 MHz, 2600 MHz และ 1800 MHz เพื่อดำเนินการทดสอบแบบ Standalone (SA) ซึ่งเป็นการทดสอบโดยใช้เฉพาะคลื่น 5G และ Non-Standalone (NSA) หรือการทดสอบการทำงานของเทคโนโลยี 5G ร่วมกับ 4G โดยดีแทคจะทดสอบทั้งการทดสอบในห้องปฏิบัติการ (Lab Testing) ก่อนนำสู่การทดสอบในสภาพแวดล้อมจริงและการทดสอบในสภาพแวดล้อมจริง (Live Environment Testing) เช่น พื้นที่บริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสยามสแควร์ เป็นต้น
รวมถึงการทดสอบทางไกล (Remote Testing) เป็นการทดสอบโดยเชื่อมต่อสถานีฐาน 5G จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปยังโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่หลัก (Core Network) ต่างพื้นที่ในโครงการทดสอบ 5G EEC ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศรีราชา เพื่อใช้ทดสอบกรณีใช้คลื่น 5G ต่างพื้นที่ร่วมกัน เช่นการรักษาผ่านทางไกลหรือสมาร์ทเฮลธ์แคร์ (Smart Healthcare) เป็นต้น
ทั้งนี้ คาดว่ากสทช.จะสามารถอนุญาตให้มีการทดสอบ 5G ได้ภายในเดือนเม.ย.-พ.ค.นี้ และหลังจากนั้น บริษัทฯ จะเริ่มดำเนินการทดสอบดังกล่าวในช่วงต้นไตรมาส 3/62
นอกจากนี้ ดีแทค ยังได้เรียกร้องให้ กสทช. ทำแผนจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum roadmap) ก่อนการจัดสรรคลื่นความถี่ในครั้งต่อไป เนื่องด้วยคลื่นความถี่คือสิ่งสำคัญในการปูพื้นฐานสู่ 5G เพราะการใช้งานและการทดสอบบริการ (Use case) ต่างๆ จะทำให้พิสูจน์ถึงความต้องการใช้คลื่นความถี่ที่กว้างและ 5G ต้องการใช้ทั้งคลื่นย่านความถี่สูง-กลาง-ต่ำ
ดังนั้นจึงตอกย้ำว่าประเทศไทยควรทำแผนจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum roadmap) ก่อนการจัดสรรคลื่นครั้งต่อไป รวมทั้งรูปแบบการจัดสรรคลื่นความถี่ในปัจจุบัน การออกแบบการประมูลที่ดีจะทำให้กำหนดราคาคลื่นความถี่ที่ยุติธรรมในการทำตลาดและป้องกันราคาประมูลที่สูงเกินจริง
ทั้งนี้ ดีแทค เชื่อว่ารากฐานที่สำคัญของการพัฒนาสู่ 5G จะต้องมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งก่อนที่จะพัฒนาสู่เทคโนโลยี 5G และนำมาเปิดให้บริการแก่สาธารณะได้โดยต้องให้ความสำคัญ ดังนี้
1.แผนจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum Roadmap) ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดแผนและการนำคลื่นย่านความถี่ต่างๆที่ชัดเจนมาใช้งานเพราะการจะให้บริการ5Gได้นั้นต้องมีคลื่นความถี่ที่เพียงพออย่างน้อย 100 MHz ต่อรายและจะต้องมีการกำหนดราคามูลค่าคลื่นความถี่ที่เหมาะสมและยืดหยุ่นในการลงทุน
2.ภาครัฐต้องสนับสนุนแนวทางกำกับดูแลในการขยายโครงข่าย 5G ในเรื่องการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน (Infrastructure Sharing) หรือจัดทำหน่วยงานกลางรับผิดชอบในรูปแบบ Infrastructure Company โดยจะต้องสนับสนุนให้ใช้ภาคเอกชนลงทุนได้มีประสิทธิภาพสูงสุดและขยายโครงข่ายได้รวดเร็วซึ่งดีแทคพร้อมที่จะประสานงานและสนับสนุนภาครัฐทุกหน่วยงาน
3.ความร่วมมือคือหลักการสำคัญที่จะพัฒนา 5G รวมทั้งการทดลองและทดสอบจะต้องร่วมประสานกันระหว่างภาครัฐและอุตสาหกรรมและการที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาร่วมส่งเสริมการใช้ 5G ให้ขยายออกไป รวมถึงสมาร์ทซิตี้และการใช้ 5G สำหรับสาธารณะสิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นและสามารถพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน
ส่วนความร่วมมือกับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT จะเป็นการร่วมทดสอบ 5G โดยใช้ทรัพยากรร่วมกันทั้งอุปกรณ์โครงข่ายและคลื่นความถี่ต่าง ๆ และนำประสบการณ์ความรู้ของแต่ละหน่วยงานมาแบ่งปันและต่อยอดการทดสอบร่วมกัน
นางอเล็กซานดรา ไรช์ กล่าวเพิ่มว่า บริษัทฯ ยังวางงบลงทุนในปีนี้ไว้ที่ 13,000-15,000 ล้านบาท เพื่อขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะในคลื่น 2300 MHz