สรุปภาวะตลาดต่างประเทศวานนี้
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 3 เม.ย. 2562
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (2 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนชะลอการซื้อขายหลังจากดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นติดต่อกัน 3 วันทำการก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงอย่างหนักของหุ้นวอลกรีนส์ บู้ทส์ อัลลิอันซ์ ซึ่งเป็นเครือข่ายร้านขายยารายใหญ่ของสหรัฐ หลังจากบริษัทปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการในปีนี้
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,179.13 จุด ลดลง 79.29 จุด หรือ -0.30% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,867.24 จุด เพิ่มขึ้น 0.05 จุด หรือ +0.00% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,848.69 จุด เพิ่มขึ้น 19.78 จุด หรือ +0.25%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 3 เมื่อคืนนี้ (2 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับความคืบหน้าเกี่ยวกับการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน
ดัชนี Stoxx Europe 600 บวก 0.35% ปิดที่ 385.03 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,423.47 จุด เพิ่มขึ้น 17.95 จุด หรือ +0.33% และ ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 11,754.79 จุด เพิ่มขึ้น 72.80 จุด หรือ +0.62% ขณะที่ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,391.12 จุด เพิ่มขึ้น 73.74 จุด หรือ +1.01%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อคืนนี้ (2 เม.ย.) เนื่องจากหุ้นกลุ่มการเงินพุ่งขึ้นนำตลาดปรับตัวขึ้นเป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ ขณะที่ตลาดไม่ได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของกระบวนการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,391.12 จุด เพิ่มขึ้น 73.74 จุด หรือ +1.01%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (2 เม.ย.) โดยได้แรงหนุนจากรายงานที่ว่า การผลิตน้ำมันของรัสเซีย และกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ปรับตัวลดลงในเดือนมี.ค. ซึ่งข้อมูลดังกล่าวช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 99 เซนต์ หรือ 1.6% ปิดที่ 62.58 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย. 2561
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 36 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 69.37 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 12 พ.ย. 2561
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (2 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กอ่อนแรงลง ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนมี.ค.
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 1.20 ดอลลาร์ หรือ 0.09% ปิดที่ 1,295.40 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 3.80 เซนต์ หรือ 0.25% ปิดที่ 15.061 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 2.80 ดอลลาร์ หรือ 0.33% ปิดที่ 852.50 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 8.50 ดอลลาร์ หรือ 0.6% ปิดที่ 1,400.30 ดอลลาร์/ออนซ์
สกุลเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (2 เม.ย.) หลังจากมีรายงานว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนมี.ค.ของยูโรโซนหดตัวลงมากที่สุดในรอบเกือบ 6 ปี ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจในยูโรโซน
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1198 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1211 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3114 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3125 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7063 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7112 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 111.38 เยน จากระดับ 111.36 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3346 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3310 ดอลลาร์แคนาดา อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9984 ฟรังก์ จากระดับ 0.9989 ฟรังก์
ค่าเงินยูโรร่วงลงหลังจากไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซน ปรับตัวลงสู่ระดับ 47.5 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นการหดตัวมากที่สุดในรอบเกือบ 6 ปี และเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2556 จากระดับ 49.3 ในเดือนก.พ.